คำแนะนำทำใจก่อนอ่านบล็อก

1. บล็อกนี้เป็นบล็อกเพื่อสุขภาพและความบันเทิง
2.ข้อมูลในบล็อกนี้ไม่ควรนำไปอ้างอิง แต่ถ้าจะส่งต่อเพื่อความรู้และความเข้าใจ เชิญเลยจ้ะ
3.โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบล็อก
4.หากจะรักษาโรคใดๆ หรือต้องการข้อมูลสุขภาพสำหรับแต่ละบุคคล ปรึกษาแพทย์โดยตรงเลยดีกว่าจ้ะ

วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

บทที่ 5 : เพราะเราไม่เข้าใจกัน... (ภาคแรก)

ฟ้อง....ฟ้อง.....ฟ้อง น้องเคยฟ้องหมอรึเปล่า(ทำนองเพลงช้าง).. เฮ้ยไม่ใช่ !!!

         สวัสดีวันแห่งความรักทุกท่านครับ ชื่อเรื่องดูจะขัดจากกระแสวันแห่งความรักไปนิดนึงละเนอะ สำหรับวันแห่งความรักวันนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่ หฤหรรษ์สำหรับคนมีคู่ แต่หดหู่สำหรับคนไม่มีใคร (อย่างเค้า ToT)” ว่าไปนั่นครับ จริงๆไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องที่จะเล่าให้ฟังวันนี้สักเท่าไรหรอกครับ แต่อยากแค่เกาะกระแสเนียนๆไปกับเค้าเฉยๆ และต้องขออภัยหากกระทู้นี้มีบางสำนวนทำร้ายใจคนโสดไปบ้างนะจ๊ะ

            วันนี้มีอีกหนึ่งเรื่องที่อยากเล่าให้ฟัง ครับ ก็เหมือนกับหลายๆเรื่องที่เล่ากันไปก่อนหน้านี้ จุดประสงค์ก็เพื่อ พยายามลดช่องว่างระหว่างแพทย์และคนไข้ที่ปัจจุบันนี้ห่างกันเกินไปหน่อย(และ แนวโน้มจะมากขึ้นอีก) ให้น้อยลง(แม้จะเล็กน้อยได้บ้างไม่ได้บ้าง) บางเรื่องจากประสบการณ์การเป็นหมอมา ถ้าบอกคนไข้ ถ้าคนไข้รู้ เข้าใจ ก็น่าจะเป็นการดี ทั้งต่อตัวคนไข้เอง และตัวหมอเองด้วยก็จะนำมาเล่าให้ฟังกันครับ

            เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ก็สืบเนื่องมาจากช่วงนี้ (จริงๆก็เป็นมาหลายช่วงแล้วนะ) มีกระทู้ เกี่ยวกับ ความไม่เข้าใจกันของคนไข้และหมอ,สงสัยในการรักษาของหมอ จนนำไปสู่การฟ้องหมอ มาให้เห็นเป็นระยะๆ ซึ่งท่านจะเห็นและได้อ่านบ้างแล้ว  ซึ่งเรื่องนี้ในส่วนต่างๆของกระทู้ผมคงไม่เข้าไป ยุ่งเกี่ยว ข้องแวะ วิจารณ์ ให้ความเห็นใดๆนะครับ เพราะในแต่ละกรณีมีความจริง เหตุผล ข้อมูล ในกระทู้นั้นๆอยู่แล้ว และผู้อ่านทุกท่านเองที่อ่านก็มีวิจารณญาณในการอ่าน คิด วิเคราะห์ของแต่ละบุคคลเป็นการส่วนตั๊วววส่วนตัว

         ซึ่งจริงๆถ้าจะว่าไป ช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา ประเด็นเหล่านี้ก็มีมาให้เห็นโดยตลอดนะครับ ไม่เฉพาะในเว็บหรือตามกระทู้ที่ได้เห็นกันไปแต่ก็ยังมีสื่ออื่นๆ ดังที่ท่านได้เห็นข่าวจากหลายๆสื่อ เกี่ยวกับ ความไม่เข้าใจกันของหมอและคนไข้ เรียกร้องความเป็นธรรม การฟ้องร้องแพทย์  แพทย์รักษาผิด แพทย์ไร้จรรยาบรรณ ออกมาบ้าง ซึ่งบางครั้ง ก็ตัดสินว่า หมอผิด บางครั้งก็ตัดสินว่าหมอไม่ผิด แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นของเรื่องที่จะเล่าวันนี้ครับ (เอ้า 1 ….. 2 ……..3!!! ออกทะเลได้)

            (ยัง!!! กลับฝั่งก่อน !!) แล้ววันนี้จะมาเล่าอะไรกันให้ฟังคะ? ก็จากเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อไปรวมกับประสบการณ์ที่ผมเองมีโอกาสได้รับฟัง รับรู้เรื่องราว ความไม่เข้าใจกัน หรือเข้าใจแต่ไม่ตรงกัน รวมไปถึง การฟ้องร้องมาบ้าง ทำให้ผมมีความรู้สึกและสงสัยครับว่า ทำไมเรื่องฟ้องร้องหมอ ถึงมากขึ้น บ่อยขึ้น และมันเกิดอะไรขึ้น...(เค้าก็ไม่รู้)

            เมื่อมาลองวิเคราะห์เอง (ในสไตล์คิดเองเออเองนั่นแหละครับ) ก็พบว่าในหลายๆครั้ง การที่คนไข้ฟ้องร้องหมอ หรือสงสัยในการรักษานั้น มันเกิดจากความเข้าใจที่ บางครั้งไม่ตรงกันระหว่างหมอและคนไข้ หมอคิดไปอย่าง คนไข้คิดไปอีกอย่าง ซึ่งจริงๆแล้วหากเข้าใจตรงกัน การฟ้องร้อง หรือช่องว่างในความเข้าใจระหว่างเราอาจไม่เกิดขึ้น (อร้ายยย สำนวนวาเลนไทน์มาก) จึงอยากจะลองนำบางเรื่องที่เกี่ยวกับความไม่เข้าใจ ไม่เคยรู้มาก่อน หรือเข้าใจแต่ไม่ตรงกันของหมอและคนไข้ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังกันครับ

              แน่นอนที่สุดครับ ก่อนอ่านกระทู้นี้ก็คงต้องมีการชี้แจงนำร่องกันก่อน (เกือบจะตลอด) เพื่อป้องกันการนำพากระทู้ผมสู่โหมดดราม่า ซึ่งแนะนำให้ไปดูเฉพาะในละครจะได้อรรถรสกว่า

1. เรื่องนี้ผมจะนำบางประเด็นนะครับ ที่เกี่ยวกับความไม่เข้าใจ หรือความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ของหมอกับคนไข้ที่มีโอกาสรับรู้ด้วยตัวเอง รับฟังจากคนอื่นมา เรียนจากตำราแพทย์มาเล่าให้ฟังกันหน่อย ไม่ว่าความไม่เข้าใจกันนั้น จะนำไปสู่การฟ้องร้องหรือไม่ แต่แน่นอนที่สุดว่า ในการฟ้องร้องหมอในแต่ละเรื่องบางครั้งมีรายละเอียดยิบย่อย และรายละเอียดของเรื่องราวที่แตกต่างกันไป รวมถึงมีสาเหตุอีกมากมายเพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยครับ ที่ผมจะเล่าได้ครบถ้วนในทุกๆเรื่อง (เอาเฉพาะเรื่องที่ตัวเองนึกออกก็แล้วกันนะ)

2. กระทู้นี้ผลิตจากสถาบัน วิจัย gentleman smart tall  handsome and excellent but relationship status single small-doctor research academy นะครับ หมายความว่า บันทึกเอง คิดเอง รับฟังเอง วิเคราะห์เอง เพราะฉะนั้น ข้อมูลที่ได้มาอาจจะไม่มีสถิติ ตัวเลข การวิเคราะห์ลงลึกข้อมูลระดับงานวิจัยใดๆทั้งสิ้น(ถ้ามีก็บวก ลบ คูณ หาร ธรรมดา ยากกว่านี้ลืมแล้ว...) เพราะฉะนั้นไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้

3. ผมไม่ได้มาเรียกร้องแทนหมอ ปกป้องคนไข้  ต่อว่าใคร ตัดสินใจให้คนอื่นว่าถูกผิดใดๆทั้งสิ้นนะครับ และก็ไม่ได้สนับสนุนทั้งการฟ้องหรือ ไม่ฟ้องหมอใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่นำเรื่องราว ประสบการณ์ และบางเรื่องที่มีความรู้สึกว่าอยากจะเล่าให้คนไข้ฟังมาบอกกล่าวกัน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เฉยๆ

4. หากคิดว่ากระทู้นี้ ไม่เหมาะสม หลังไมค์มาได้ครับ หากเหตุผลสมควร ผมจะไปจากคุณเอง (อะฮึกๆ) แต่รบกวนอย่างเดียวครับ อย่าทะเลาะกันนะ เอาแค่ ถกกันแบบหอมปาก หอมคอ หอมแก้มกันพอ

5. กระทู้นี้ในบางเรื่องประเด็นความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้น อาจจะไม่ได้ไปถึงขั้นฟ้องร้องนะครับ แต่ก็จะขอนำมาเล่าให้เข้าใจว่าบางครั้ง ความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้น(ซึ่งอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องในอนาคตได้) เกิดขึ้นได้ยังไง

6. หากท่านมีสิ่งที่เรียกว่า ความลำเอียง หรืออคติอยู่ในตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเชื่อฝั่งหมอมากกว่า หรือเข้าข้างคนไข้มากกว่า โดยที่คิดว่าความคิดอื่นนั้น เป็นข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวกระทู้นี้ไม่ค่อยเหมาะสำหรับท่านเท่าใดนักครับ แนะนำให้ปิดกระทู้แล้วเข้านอนได้ครับ (กินวีต้าก่อนก็ได้)

7. หมอท่านใดอยากร่วมแบ่งปันประสบการณ์เรียนเชิญนะครับ อย่างที่บอกว่าความไม่เข้าใจระหว่างหมอกับคนไข้เนี่ย มีหลายๆกรณีและเยอะพอสมควร ผมไม่มีทางอธิบายได้หมดแน่ๆ แต่รบกวนแบ่งปันละกันนะครับ อย่ามาในแนวตัดพ้อ ด่า ประชดคนไข้หรือหมอกันเอง เพราะที่สุดแล้วกระทู้นี้ อาจจะสาบสูญไปได้ (เค้าขี้เกียจพิมพ์ใหม่ง่ะ)

เอาละ อ่านมาก็ยาวจะครึ่งค่อนกระทู้แล้ว ยังไม่ใกล้เคียงซึ่งเนื้อหาสักเท่าไร รีรอไปไย ใส่เลยแล้วกันครับคุณผู้ชม

การสื่อสาร

        เปิดประเด็นนี้ก่อนเลยแล้วกันนะครับ กับการสื่อสารซึ่งน่าจะเป็นประเด็นความไม่เข้าใจและสาเหตุต้นๆเลยละมั้งครับ ที่นำมาสู่การฟ้องร้อง ซึ่งบางเรื่องนั้น การรักษาก็ถูกต้อง หมอทำถูกหมด คนไข้ก็ปกติดี แต่เพียงแค่การสื่อสารที่ผิดไป บิดเบี้ยวไปนิดหน่อย ก็นำพาไปสู่การฟ้องร้องได้

         การสื่อสารโดยปกติระหว่างคนไข้รวมไปถึงญาติ กับหมอ ก็เหมือนกับการสื่อสารทั่วไปละครับ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 อย่างนั่นคือ ผู้ส่งสาร สาร สื่อ และผู้รับสาร (ภาษาไทย ประถม ได้เกรด 4 นะคะขอบอก มัธยม...ข้ามไปแล้วกัน)

          ซึ่งโดยส่วนใหญ่ การสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้ หรือคนไข้กับหมอที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันนั้น ก็เกิดจากปัจจัยและองค์ประกอบเหล่านี้ละครับ ซึ่งบางครั้งแยกออกให้เด็ดขาดไม่ได้ซะทีเดียว เพราะบางครั้งการที่สื่อสารไปแล้วเกิดความไม่เข้าใจกัน จริงๆแล้วไม่รู้อยู่ที่ หมอ คนไข้ หรือตัวเนื้อความที่อธิบายกันแน่ว่ายากหรือซับซ้อนเกินไปรึเปล่า


           ประเด็นแรกเลยคือ ไม่มีการคุยกันในหลายๆครั้งครับที่ความไม่เข้าใจกันนั้นเกิดจากการที่ไม่ได้คุยกันก่อน หรือการส่งสารระหว่างหมอกับคนไข้ไปไม่ถึงกัน ซึ่งการไม่ได้คุยบางครั้งก็เกิดจากหมอที่ไม่บอกคนไข้ บางครั้งก็เกิดจากคนไข้ที่ไม่สนใจจะฟังโดยให้เหตุผลว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องบอก ไม่รู้เรื่องให้หมอตัดสินใจให้เลย

            โดยส่วนใหญ่ คุณหมอทุกคนเวลารักษาคนไข้ก็มักจะมีการแนะนำร่วมด้วยละครับ แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันครับที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ คือการที่หมอไม่ได้แนะนำ เพราะเข้าใจว่าคนไข้รู้ น่าจะเข้าใจได้เอง เป็นเรื่องธรรมดาที่น่าจะรู้กันอยู่แล้ว โดยที่บางครั้งก็ลืมไปครับว่าเราเองอยู่ในอาชีพนี้มา แต่คนไข้นะเค้าไม่รู้หรอก ดังตัวอย่างที่เกิดกับผมเองนี่ละครับ

           คนไข้ชาย 66 ปีมาด้วยประวัติโดนมีดบาดที่ปลายนิ้วครับ ต้องเย็บ ก็เลยบอกคนไข้ว่า จะฉีดยาชา ที่นิ้วแล้วเย็บนะครับ คนไข้ก็ไม่มีปัญหาครับ สังเกตแกแอบเหลือบไปเห็นพยาบาลสาวสวย 2 คนในห้องฉุกเฉินวันนั้นด้วย ก่อนประกาศกร้าว เต็มที่หมอ!! ผมนะไม่กลัวอยู่แล้วแผลแค่นี้ไกลหัวใจ ไม่ต้องฉีดก็ได้นะหมอยาเนี่ย (กรี๊ดดดดดด แม้นแมน)

           ผมก็บอกไปว่า ฉีดเถอะลุง มันเจ็บเยอะนะครับ”  พอเราฉีดยาชาไปเสร็จแกก็นอนลง หลับตาพริ้มเชียวครับ จัดท่าเตรียมเย็บ กำลังจะเย็บ ก็มีเสียงโทรศัพท์ครับดังเข้ามา
เฮ้ย....เดี๋ยวๆหมอ ผมได้ยินเสียงโทรศัพท์
ครับ ของผมเองครับ มีอะไรเหรอครับ
ทำไมผมยังได้ยินเสียง??”
แล้วทำไมคุณลุงจะไม่ได้ยินเสียงละครับ??”
อ้าว หมอไม่ฉีดยาสลบให้ผมเรอะ !!
ยาชาครับ
นั่นแหละๆ มันก็เหมือนกัน ฉีดยาไปแล้วหนิ ทำไมผมไม่สลบละ??”
“..................”

           ต้องอธิบายคนไข้ใหม่อีกครับว่ายาชากับยาสลบเนี่ยไม่เหมือนกัน ปล. ดูคุณลุงอึ้งๆไปนิดนึงว่าต้องเย็บ ตอนตื่นอยู่ ไม่ได้หลับไปนะ..หน้าซีดเล็กน้อย แต่ดูพยายามจะแมนอย่างบอกไม่ถูก...^^

           ประเด็นนี้จริงๆก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรนะครับ เพราะสุดท้ายไม่มีปัญหาอะไรตามมาเพียงแต่ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ ให้เห็นว่าบางครั้งหมอเข้าใจว่าคนไข้รู้แต่จริงๆแล้วคนไข้ไม่รู้นะครับ...

           ยังมีอีกเรื่องที่นำพาความลำบากมาสู่การรักษาและเกือบๆจะโดนร้องเรียน เหมือนกันจากเพื่อนผม คือ คนไข้อายุ 65 ปีมาด้วยประวัติปวดเมื่อยกล้ามเนื้อครับ ได้ยาแก้อักเสบไปรับประทานโดยที่ หมอก็แนะนำครับและอธิบายว่าให้ กินหลังอาหารนะ เพราะถ้าไม่กินหลังอาหารจะมีปัญหาเรื่องปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบได้ เพราะยามันกัดกระเพาะคนไข้ก็กลับไปครับ หมอเพื่อนผมนัดดูอาการ 1 สัปดาห์

            1 สัปดาห์ต่อมาคนไข้กลับมาอีกครั้งครับ แต่มาพร้อมญาติสนิทมิตรสหายจำนวนมากประหนึ่งหมอเป็นดาราอยากมาดูกันเลยที เดียว คนไข้กลับมาใหม่ครับ ด้วยเรื่องปวดท้อง(แต่ปวดกล้ามเนื้อหายแล้วนะ) ถามไปถามมา คนไข้กินยาหลังอาหารครับ แต่กินหลังอาหาร 2 ชั่วโมง เนื่องจากปกติคนไข้กินข้าวเย็น 4 โมงเย็นครับ ส่วนยาคนไข้บอกว่าต้องรอลูกกลับมาจัดการให้กิน ลูกจะกลับมาก็ 6 โมงเย็นหรือเกือบทุ่มหนึ่ง
อ้าว!! หมอให้กินหลังอาหารนะครับ
ก็กินหลังอาหารนะหมอ 6 โมงเย็นก็หลัง 4 โมงเย็นนี่นา
หมอก็แนะนำไปใหม่...................
(ในยาที่มีโอกาสจะระคายเคืองกระเพาะมากๆควรกินหลังอาหารมื้อนั้นทันทีไปเลยนะครับ และดื่มน้ำตามมากๆ)
แล้วคนไข้ปวดท้องมานานเท่าไรแล้วครับ
จะ 4 วันแล้ว
อ้าวแล้วทำไมไม่หยุดยาแล้วมาหาหมอละครับ??”
ก็ หมอบอกว่ายากัดกระเพาะ แต่ไม่ได้บอกว่ากัดกระเพาะแล้วต้องหยุดกินยาหนิ ฉันก็กินแล้วทนๆไปบอกว่าให้มาวันนี้ก็มาวันนี้ตามนัดเลยนะ เห็นมั้ย
โอ้ววว (เป็นเสียงในห้วงความคิดของเพื่อนผมนะครับ ก่อนจะ คิด วิเคราะห์ สติ สมาธิ ปัญญา แล้วรวบรวมคำพูดตอบคนไข้ไปว่า .....
ครับ(ยิ้ม หวานนนน)”  และ แนะนำไปใหม่หมด (หากมีอาการไม่พึงประสงค์จากยา เกิดอาการผลข้างเคียงจากยา หรือสงสัยว่าจะมีอาการแพ้ เช่นผื่น ปวดท้องมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก แน่นหน้าอก ให้หยุดยาแล้วไปหาหมอทันทีนะครับ...อย่าลืมนำยาที่กินแล้วมีอาการไปด้วยนะ ครับ)

           วันนั้นเพื่อนผมก็เลยต้องเคลียร์กับญาติไปใหม่ด้วยครับ เพราะญาติก็สงสัย และเกือบๆจะเอาเรื่อง(แบบงงๆ)

           หลายๆท่านอาจจะสงสัยครับว่า แล้วทำไมหมอไม่แนะนำให้หมด ไม่บอกให้หมด เป็นหน้าที่คุณนะ

           จริงๆก็ควรจะเป็นอย่างนั้นครับ แต่ !!!!! ช้าก่อนท่านพี่ !!

           1 วันหมอต้องตรวจคนไข้ประมาณ150-200 คนครับ(ยึดโรงพยาบาลรัฐบาลเป็นหลัก)  เวลาทำงานของหมอและเวลาที่คนไข้ที่มาตรวจจะรอได้โดยไม่หงุดหงิดและไม่ร้องเรียนหมอ คือ 8.00-17.00 โดยประมาณ (ตรวจล่วงเวลาให้ด้วยนิดหน่อย)  นั่นคือรวมเวลาประมาณ   9 ชั่วโมง(เค้าคิดคำนวณแบบไม่กินข้าวเที่ยงให้ด้วยนะ) นั่นคือ 540 นาที เพราะฉะนั้นจะมีเวลาตรวจคนไข้ทั้งสิ้นคนละประมาณไม่ถึง 3 นาที!! (นานประมาณช่วงเวลาทดเจ็บฟุตบอล) สั้นกว่าเวลากรีดอาย ไลน์เนอร์บางคนอีกนะคะคุณ !!!

            ผมเคยทำการทดลอง แนะนำคนไข้ทุกอย่างโดยสมมติว่าคนไข้เป็นเบาหวานมาตรวจ และแนะนำทุกอย่างเลย(ตามหนังสือเรียนเป๊ะ) ต้องใช้เวลาเฉพาะการแนะนำ ประมาณ 7 นาทีเลยนะครับ (พูดแบบไฟแล่บ)ไม่รวมเวลาตรวจ สั่งยา หรือเงยหน้ามามองคนไข้ด้วยซ้ำ

            นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ในหลายๆครั้งเราอาจจะต้องแนะนำคนไข้เท่าที่จำเป็นและเอื้ออำนวย เพราะเวลาไม่ทันจริงๆ และบางครั้งคาดไปแล้วว่าคนไข้น่าจะรู้ แต่บางอย่างเราก็ลืมไปครับ ว่าบางอย่างคนไข้ไม่รู้จริงๆนะจ๊ะ

            เคยแก้ปัญหาด้วยการแจกแผ่นพับ และแม้กระทั้งเขียนคำแนะนำในการใช้ยาในซองยาไปด้วยนะครับ โดยเวลาตรวจเสร็จอันไหนที่แนะนำไม่หมด ก็จะให้แผ่นพับไปเพิ่ม หรือบอกคนไข้ทุกครั้งว่า ก่อนกินยาอ่านฉลากด้วยนะซึ่งแน่นอนครับ กระดาษแผ่นพับดังกล่าวก็มักจะไปโผล่อีกที ในถังขยะหน้าโรงพยาบาล ให้ลูกพับจรวด เขียนแทนโพยหวยก็มี ส่วนเรื่องฉลากยาก็จะไม่อ่านกันหรอกครับด้วยเหตุผล ตาไม่ดี” “อ่านไม่ออก” “ไม่เข้าใจ” “คุณหมอแนะนำง่ายกว่า”  หรือในคนไข้หลายๆรายพอถามว่าทำไมไม่อ่านละครับคนไข้ก็จะยิ้มหวานแล้วตอบว่าแหะๆไม่ได้อ่านหรอกค่ะ(ครับ)แบบไม่มีเหตุผล

             (ย่อหน้านี้หมอขอเกรียนนิดนึงครับวาเลนไทน์ไม่มีคู่แล้วหงุดหงิด) บางครั้งก็เรียนตามตรงว่าผมเองก็แปลกใจครับ ในคนไข้บางคนนะครับ คำแนะนำแผ่นพับ ก็มีให้อ่าน ให้กลับไปบ้านด้วย ความรู้จากหลายๆสื่อก็มี  คนไข้ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอ่านกัน ไม่รับรู้  จะมีส่วนน้อยละครับที่ตั้งใจรักษาสุขภาพ เป็นโรคอะไรก็ไปขวนขวายหาความรู้เองด้วย (แนะนำนิดนึงสำหรับบางข้อมูลจากสื่อ เช่น อินเทอร์เน็ต หรือ โทรทัศน์ หากสงสัยหรือไม่มั่นใจในข้อมูลจากสื่อนั้นๆก็ควรถามหมอก่อนนะครับ) บางครั้งถามว่าแนะนำไปแล้วสงสัยอะไรไหม ไม่สงสัย เข้าใจแล้ว” (ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง สนใจแต่ยาที่ได้) แต่พอเกิดปัญหาอะไรขึ้น ไม่ได้ทำตามที่หมอแนะนำ มักจะบอกก่อนเลยว่า หมอเป็นคนผิดนะ เพราะหมอไม่ได้แนะนำตรงนี้ หมอแนะนำแล้วไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง หรือทำไมหมอไม่ทำให้เลยละ น่าแปลกไหมครับที่บางครั้งสุขภาพและชีวิตของคนเรา เราก็น่าจะมีส่วนในการทำให้มันดี มีส่วนรับผิดชอบในสุขภาพและชีวิตของตนเองด้วย แทนที่จะโยนทั้งชีวิตเราไปให้คนอื่นรับผิดชอบเพียงอย่างเดียว หมอเองช่วยได้ครับ ช่วยรักษาให้โรคหาย ช่วยส่งเสริมสุขภาพ แต่ก็เป็นแค่ ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ ทั้งหมด ประหนึ่งหมอบอกว่าอยากสุขภาพดีให้ออกกำลังกาย แต่ตัวเองก็ไม่ออกแล้วก็โทษหมออย่างเดียวว่าทำไมทำให้สุขภาพแข็งไม่ได้ เป็นโรคบ่อยจัง หมอรักษายังไง คนไข้เองก็น่าจะมีส่วนในการช่วยรักษา ส่งเสริมสุขภาพตัวเองด้วยนะครับ สุขภาพที่ดีไม่ใช่ว่าได้รับมานะครับ ต้องสร้างเองด้วย เพราะขนาดตัวเองยังไม่สร้างเอง ไม่รักษาสุขภาพเอง จะหวังให้คนอื่นมาสร้างให้ได้ไงจริงไหมครับ จบส่วนเกรียนก่อนที่จะออกทะเลไปนู่น...  

            มีอีกบางกรณีครับ ก็มีการคุยกันดีระหว่างหมอกับคนไข้ครับ แต่ผลลัพธ์ของการคุยคือ ไม่รู้เรื่องซึ่งก็ไม่รู้ครับว่าหมอหรือคนไข้เป็นต้นเหตุ

            เคยมีกรณีเกิดขึ้นก็คือ คนไข้ผู้ชายอายุ 40 ปีครับ ดื่มเหล้าจัดมาก กินจนเป็น ตับแข็งเรียบร้อย มาติดตามการรักษา ก็มาโรงพยาบาลบ้างไม่มาบ้างเรียกได้ว่ารักษาไม่สม่ำเสมอ และที่สำคัญยังกินเหล้าแบบระห่ำบู๊ล้างผลาญเหมือนเดิม

            วันหนึ่งมาด้วยเรื่องปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ครับ ปวดมาก หมอที่ตรวจก็ตรวจและวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นตับอ่อนอักเสบ คงต้องส่งตัวไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด ตอนส่งตัว ญาติคนไข้แอบเมาส์มอยหมอนิดนึง หมอภาษาอะไร รู้อยู่ว่าคนไข้เป็นตับแข็ง ยังวินิจฉัยว่าเป็นตับอ่อนอักเสบอีก บอกว่าตับแข็ง ตับแข็ง อยู่ดีๆตับมันจะอ่อนได้ไง” (บทขยายความ บางท่านที่สงสัยครับ  ตับอ่อนกับตับเนี่ย มันคนละอวัยวะกันนะครับ ตับอ่อนอักเสบก็เป็นโรคของตับอ่อนส่วน ตับแข็งก็เป็นโรคของตับดังนั้นไม่ได้เกี่ยวกับอยู่ดีๆตับมันจะอ่อนจะแข็งขึ้นมานะครับคนละ เรื่องกัน)

           เห็นไหมครับว่าบางครั้งแม้จะได้คุยกันดี ก็ไม่ได้แปลว่าจะคุยกันรู้เรื่องเสมอไป เกิดความเข้าใจผิดกันบ่อยๆ และที่สำคัญความเข้าใจผิดนี้มักไม่ค่อยได้รับการแก้ไขนะครับ เพราะเมื่อหมอถามว่าเข้าใจไหม มักได้คำตอบว่า เข้าใจมีอะไรจะถามไหมไม่มี เข้าใจหมดแล้วแต่จริงๆแล้วไปเข้าใจยังไงก็อีกเรื่องนะครับ

           และก็มีบางเหตุการณ์ครับ ที่เป็นผสมปนๆกันคือ ไม่แน่ใจว่า หมอไม่บอก หรือบอกแล้วแต่ไม่รู้เรื่อง

           ดังจะเห็นครับว่ามีคนไข้บางรายที่ต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดและ พอไปถึงโรงพยาบาลจังหวัดแล้วหมอที่โรงพยาบาลจังหวัดถามว่ารู้ไหมคนไข้เป็นอะไรถึงต้องส่งตัวที่มาโรงพยาบาลจังหวัด ก็จะได้คำตอบว่า
•  รู้ทั้งญาติและคนไข้(หมอที่โรงพยาบาลชุมชนน่าจะแนะนำและบอกอย่างดีแล้ว)
•  ญาติรู้แต่คนไข้ไม่รู้ หรือคนไข้รู้แต่ญาติไม่รู้(หมอที่โรงพยาบาลชุมชนน่าจะแนะนำและบอกแล้ว แต่มีคนฟังและไม่ฟัง)
•   ไม่รู้ทั้งญาติและคนไข้ (อันนี้ยากแล้วครับว่าหมอที่โรงพยาบาลชุมชนไม่ได้แนะนำหรือแนะนำแล้วแต่ไม่ฟังทั้งคู่)

             ผมเคยส่งคนไข้คนหนึ่งที่จำเป็นต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งก่อนไปผมก็บอกคนไข้และญาติเป็นอย่างดี และเรียบร้อยแล้วนะครับว่าสงสัยว่าจะเป็นเส้นเลือดที่ขาอุดตันนะย้ำนะครับว่าสงสัยว่าจะเป็นเส้นเลือดที่ขาอุดตันนะพอไปถึงโรงพยาบาลจังหวัด เพื่อนผมที่อยู่โรงพยาบาลจังหวัดก็ถามคนไข้และญาติละครับ
"เป็นอะไรถึงต้องส่งตัวมาที่โรงพยาบาลจังหวัดครับ"
ก็หมอเค้าส่งมานะสิ?? (ถามทำไม)
แล้วคุณหมอที่นู่นเค้าว่าเป็นอะไรครับ
ก็ไม่แน่ใจนะ ไม่เห็นหมอบอกอะไร (แหนะ !!)

          ผมก็มารู้ทีหลังจากเพื่อนผมนี่ละครับ

          เพราะฉะนั้นหลายๆครั้งมีเหมือนกันนะครับว่าที่คนไข้บอกว่าไม่รู้ หมอไม่ได้บอกนั้นจริงๆบอกไปแล้วครับ แต่ไม่ได้ฟังหรือไม่สนใจ ด้วยความคิดที่ว่า เดี๋ยวหมอจะจัดการให้เอง เราไม่ต้องสนใจก็ได้เพราะที่เหลือก็เป็นหน้าที่หมออยู่แล้ว

          ประเด็นของญาติ ก็มีการสื่อสารอีกแบบครับที่ผมว่าหมอๆหลายๆคนจะโดนอย่างมาก คือ  “สื่อสารกับญาติจำนวนมากซึ่งจริงๆประเด็นนี้ทำให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างหมอกับคนไข้ได้บ่อยเช่น กัน

          ส่วนใหญ่กรณี มักเกิดกับคนไข้ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยทุกวัยที่ต้องนอนโรงพยาบาลที่มีญาติเป็นจำนวนมากครับ แต่ญาตินั้น ไม่ได้อยู่กับคนไข้ หรือ มีญาติบางส่วนอยู่กับคนไข้ แต่ไม่ทั้งหมด เช่น ลูก 4 คน 1 คนอยู่ด้วย อีก 3 คนไม่อยู่ หรือ ลูก ไม่อยู่ด้วยเลยทั้ง 4 คนให้อยู่กับแม่บ้านประมาณนั้น

          ทีนี้พอคนไข้เจ็บป่วยก็จะมีการพามาโรงพยาบาลและถ้าหากต้องนอนโรงพยาบาล หมอส่วนใหญ่ก็จะแจ้งกับผู้ที่พามา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า เป็นใคร อาจจะเป็นลูกคนโต ลูกคนเล็ก แม่บ้าน คนข้างบ้าน หลาน หรือญาติคนอื่นๆ หลังจากนั้นสิ่งหนึ่งที่บางครั้งหมอต้องเจอ คือการอธิบาย ซ้ำๆครับ

          พอเข้าใจได้ครับว่า อธิบายครั้งที่ 1 คือกับผู้ที่พาผู้ป่วยมา ทีนี้ในคนไข้บางรายที่มีลูกหลานญาติเยอะๆ แต่จะมาเยี่ยมในเวลาอื่น อาจจะเป็นวันเดียวกันนี่แหละแต่คนไข้มาเช้า ญาติอีกคนมาเที่ยง ลูกอีกคนมาเย็น ลูกอีกคนมากลางคืน บางครั้งญาติเหล่านี้ก็จะขอให้หมอมาอธิบายอาการซ้ำ ซึ่งหมอเองก็ไม่ได้มีปัญหาหรอกครับ อธิบายได้แน่นอน (แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บางอย่างที่จะยกตัวอย่างให้ดูด้วยนะครับ)

          ทีนี้แล้วประเด็นความไม่เข้าใจอยู่ที่ไหนละคะคุณหมอ เป็นคำถามที่ดีมากครับ (เริ่มถามเองตอบเอง....-_-‘) ปัญหามันเกิดจากการที่บางครั้งหมอถูกถามซ้ำๆถี่ๆและมาอธิบาย ณ เวลานั้นไม่ได้

            ผมในสมัยละอ่อนเมื่อ(ไม่นานมานี้) เคยเจอคนไข้ อายุ 11 ปีเป็นเด็กผู้ชายมาครับ มาด้วยไข้เลือดออกมานอนที่โรงพยาบาล ตอน 8 โมงเช้า โดยคุณแม่พามาครับ ซึ่งแน่นอนผมก็อธิบายตัวโรค แนวทางการรักษา และให้เข้าไปนอนโรงพยาบาล (คุณแม่ และ คนไข้เข้าใจดี)

            10.00 น. พ่อคนไข้มาครับ และอยากขอคุยกับผมเรื่องอาการ ตอนนั้นก็ตรวจคลินิกผู้ป่วยนอกอยู่ครับ แต่คิดว่า เอานะ พ่อแม่ ก็ห่วงลูกธรรมดา อธิบายอีกรอบ

            13.30 น. ญาตินำทัพโดย ป้า 2 ลุง 2 อาอีก 2 ตายาย และชาวคณะ อีกเป็นจำนวนมากมาเยี่ยม และอยากทราบอาการจากหมอ (คุณพยาบาลบอกผมว่าแนะนำเบื้องต้นแล้วแต่ญาติบอกว่าอยากขอคุยกับหมอโดยตรง เท่านั้น) ผมซึ่งก็ตรวจคลินิกผู้ป่วยนอกภาคบ่ายอยู่ ก็เห็นว่า เอานะ สุดท้ายแล้วมั้ง ก็เข้ามาอธิบายให้ฟังอีกรอบโดยบอกทั้งหมดว่า ถ้ามีญาติมาอีกรบกวนญาติๆคุณพ่อคุณแม่ และตัวคนไข้เองอธิบายให้ฟังกันด้วยนะครับ (เพราะผมก็อธิบายให้คุณพ่อคุณแม่และคนไข้เข้าใจดีแล้ว)

            19.00 น. ผมเลิกงานกลับบ้านที่ต่างอำเภอแล้วนะครับ (อยู่บ้านล้างห้องน้ำอยู่ ไม่ได้อยู่เวรวันนั้น)ก็มีญาติมาเยี่ยมอีกกลุ่มหนึ่งครับ โดยจะขอให้ผมไปอธิบายให้ฟังอีกที ซึ่งคุณพยาบาลก็แนะนำเบื้องต้น และบอกว่าให้รอพบหมอพรุ่งนี้ก็ได้ หรือถามจากพ่อ แม่ คนไข้เอง หรือญาติคนอื่นๆก็ได้

             เหตุการณ์ก็น่าจะปกติสุขนะครับ แต่ตอนเช้ามาก็มีเรื่องจนได้ครับ คุณพยาบาลมาเล่าให้ฟังทีหลังว่าตอนประมาณ 5 ทุ่มมีญาติอีกกลุ่มหนึ่งจากต่างจังหวัดมาเยี่ยมครับ(รู้สึกจะเป็นคุณน้า) และต้องการจะคุยกับหมอเท่านั้น (คุณพยาบาลแนะนำแล้ว) ต้องการเบอร์โทรศัพท์จะโทรไปคุย ซึ่งคุณพยาบาลก็ไม่ได้ให้ไปละครับ ก็ไม่แน่ใจว่าคุณหมอจะหลับแล้วหรือไม่ (ซึ่งผมหลับแล้วครับ อยู่เวรติดกัน 3 วัน) ญาติๆก็ไม่พอใจครับ อยากรู้อาการ อยากคุยกับหมอเท่านั้น ไม่คุยกับญาติตัวเอง ไม่คุยกับหมอที่อยู่เวรด้วย ไม่คุยกับคุณพยาบาล แต่จะคุยกับหมอเจ้าของไข้เท่านั้น

            คุณพยาบาลก็แนะนำให้รอถึงตอนเช้า ญาติก็ไม่สะดวกที่จะรอต้องการเดี๋ยวนี้แล้วก็เริ่มไม่พอใจและบอกว่าหมอภาษาอะไรญาติอยากรู้ตอนไหนก็ต้องมาอธิบายสิ หมอต้องพร้อม 24 ชั่วโมงสิ (เพิ่งรู้ว่าตัวเองเป็น 7-11 นะเนี่ย....เข้าใจผิดไปกันใหญ่ หมอก็มีเวลางานและเวลาเลิกงานนะครับ -_-‘)”

            สุดท้ายก็ไม่ได้เจอผมครับ แต่คุณพ่อคุณแม่เด็กก็เข้าใจแล้วบอกว่าญาติคนนี้เป็นแบบนี้แหละ แถมให้กระเช้าผลไม้คุณพยาบาลเป็นการขอบคุณที่ดูแล (และรับศึก) ด้วยตอนออกจากโรงพยาบาล

            นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งนะครับ นี่เป็นน้าหลานกันนะครับ ยังห่วงและไม่พอใจหมอขนาดนี้ ถ้าเป็นญาติสายตรง เช่น พ่อแม่(จริงๆก็ไม่น่าจะมีหลายคน) หรือลูกหลายๆคน ถ้าไม่เข้าใจในจุดนี้จะไม่พอใจหมอขนาดไหน และก็มีโอกาสที่จะเข้าใจผิดกันได้ โดยญาติอาจจะคิดว่า "อะไรกัน ทำไมมาอธิบายไม่ได้ ก็อยากรู้อาการคนไข้จากปากหมอ เป็นห่วง" แต่บางครั้งก็ต้องเข้าใจและดูด้วยครับว่าหมอคนนั้นอธิบายไปแล้วหรือยัง ตัวคนไข้เองและญาติคนอื่นเข้าใจรับทราบหรือยัง และเวลาที่จะให้มาอธิบายนั้น หมอสะดวกหรือไม่ ติดภารกิจหรืองานอะไรอยู่หรือเปล่า

            ผมอธิบายสูงสุดคือ 7 รอบครับในวันเดียว คนไข้คนเดิม อาการเดิม โรคเดิม แต่กลุ่มญาติๆใหม่

            หลายๆคนอาจจะสงสัยว่า ก็มันเป็นหน้าที่หมอไม่ใช่เหรอ ที่ต้องอธิบายให้คนไข้และญาติเข้าใจ ซึ่งผมก็เรียนอย่างนี้ละครับ ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องครับที่หมอต้องอธิบายให้คนไข้และญาติเข้าใจ ถ้าหมอว่างในตอนนั้น ก็ยินดีจะมาอธิบายให้เข้าใจให้รับฟังนะครับ แต่บางครั้งมาไม่ได้จริงๆไม่สะดวก ติดผ่าตัด ตรวจคนไข้ และก็ไม่ได้อยู่ในเวลางานหรืออยู่เวรแล้ว มาอธิบายในตอนนั้นไม่ได้ รวมทั้งมีการอธิบายให้ตัวคนไข้เอง และญาติสายตรงคนดูแล เข้าใจแล้ว ก็น่าจะเป็นการเพียงพอ อยากให้เข้าใจในส่วนตรงนี้

            และถ้าจะเป็นการสะดวกในการรักษาเพิ่มขึ้น ถ้าญาติคนอื่นๆอยากรู้อาการ ญาติๆเองก็สามารถที่จะอธิบายกันเองให้เข้าใจ ถามจากตัวคนไข้หรือญาติที่ได้คุยกับหมอไปแล้ว หรือ มาร่วมรับฟังตั้งแต่มานอนโรงพยาบาล หรือ รวมญาติที่อยากรู้มาถามทีเดียว หรือ รอสอบถามอาการในวันรุ่งขึ้นพร้อมความคืบหน้าในการรักษา ซึ่งหมอทุกคนก็ต้องมาตรวจคนไข้และบอกความคืบหน้า อาการ และการรักษาคนไข้ให้ญาติๆฟังเกือบจะทุกวันอยู่แล้วครับ (หรือถ้าหมอเจ้าของไข้ไม่มาก็สอบถามจากคุณหมอที่อยู่เวรวันนั้นๆก่อน)

            ลองคิดดูเอามันส์นะครับ ถ้าญาติคนไข้คนหนึ่งแยกกันมาคุยกับหมอเตียงละ 4 รอบ อธิบายซ้ำรอบละ 5 นาที รวมคนไข้ 1 คนต้องอธิบาย 20 นาที แต่ถ้าอธิบายคนไข้ 1 คน 1 รอบ ก็จะประหยัดเวลาไปได้ถึง 15 นาที บางคนบอกว่าอะไรกันแค่ 15นาทีเอง แล้วถ้าคนไข้ที่นอนโรงพยาบาลของหมอคนนั้นมี 10 คน(แบบจิ๊บๆ) ละครับ ก็จะประหยัดเวลาไปได้ 150 นาที หรือเทียบกับการตรวจคนไข้ได้อีก 50 คนเชียวนะครับ  (อ้างอิงตรวจคนไข้คนละ 3 นาทีจากข้างบน)

             เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจนะครับหาก คุณหมอจะมีการบอกญาติว่าอธิบายไปแล้วรบกวนสอบถามคนไข้หรือญาติที่พามาหรือให้ตามญาติทุกคนมาจะอธิบายทีเดียวหรือบางครั้งไม่สะดวกที่จะมาอธิบายในตอนนั้นๆ ก็อยากจะให้เข้าใจแพทย์สักนิดหนึ่งและอย่าโกรธกันเลยละกันนะครับ เพราะแพทย์เองก็ต้องมีงาน มีหน้าที่ในส่วนอื่นๆที่ต้องรับผิดชอบอยู่

ตอนหน้ามาต่อกัน กับการสื่อสาร(ภาคต่อ) (หะ !! ไม่จบไม่สิ้น)และเรื่องอื่นๆอีกที่ทำให้ เราไม่เข้าใจกัน ครับ

ปล. สุขสันต์วันแห่งความรักนะครับ  สุขสันต์วันแห่งความรัก ให้ใครต่อใครค้าววววววว สุขสันต์วันแห่งความง้าวววว ให้เราที่ต้องเดียวดาย
วันนี้เป็นอีกปีแล้ว แบ๊ด วาเลนท้ายยยยยยยยย (ปีนบันไดร้อง สูงเกิ๊นน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น