คำแนะนำทำใจก่อนอ่านบล็อก

1. บล็อกนี้เป็นบล็อกเพื่อสุขภาพและความบันเทิง
2.ข้อมูลในบล็อกนี้ไม่ควรนำไปอ้างอิง แต่ถ้าจะส่งต่อเพื่อความรู้และความเข้าใจ เชิญเลยจ้ะ
3.โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบล็อก
4.หากจะรักษาโรคใดๆ หรือต้องการข้อมูลสุขภาพสำหรับแต่ละบุคคล ปรึกษาแพทย์โดยตรงเลยดีกว่าจ้ะ

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

บทที่ 3 : โปรดอย่าเข้าใจฉันผิด......(ภาค 3 แล้วจ้ะ)

                 เอาละครับมาถึงภาคสุดท้าย ก่อนที่เราจะไปทำมาหากินเรื่องอื่นกันกับความเข้าใจผิดที่มีผลต่อการรักษานะ ครับ  ที่จะกล่าวต่อไปเป็นอีก 2 เรื่องที่ยังคงมีผู้ป่วยหรือไม่ป่วยหลายๆท่านเข้าใจผิดกันอยู่  ว่าไปเลยละกันนะครับ
น้ำเกลือคือพลังชีวิต
               
                ถ้ามีญาติของเราสักคนต้องเข้าโรงพยาบาลให้น้ำเกลือเนี่ย หลายๆท่านคงจะต้องตกใจ อุ้ย!! ว้าย!! คุณพระ!! บร๊ะเจ้า!! กันเลยใช่ไหมครับ ไม่แปลกครับ แต่ที่ต้องตกใจคือเรื่องการนอนโรงพยาบาล กลับบ้านไม่ได้มากกว่าเรื่องที่ต้องให้น้ำเกลือนะครับ


               น้ำเกลือคืออะไร? แน่นอนถ้าอ่านบทความผมมาสักระยะผมก็จะต้องตอบว่า ก็คือ น้ำที่มีเกลือนะสิ!! (ทุบดินเจ็บมือมาก) เกลือในที่นี้ ก็คือ NaCl หรือที่เด็กๆมัธยมปลายอัจฉริยะเคมีทั้งหลาย ว่าคือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือที่บ้านเรากินๆกันนี่ละครับ

               งั้นการให้น้ำเกลือก็คือการให้คนไข้ได้รับเกลือธรรมดานะสิ จะว่าใช่ก็ใช่ครับ แต่จะว่ายังงั้นก็จะเป็นการดูหมิ่นคุณน้ำเกลือไปนิดนึง จริงๆน้ำเกลือมีหลายรูปแบบนะครับ องค์ประกอบในส่วนผสมก็แตกต่างกันโดยจะมีการระบุองค์ประกอบไว้ ด้านข้างของขวดน้ำเกลือด้วยครับ หากอยากรู้เวลามีญาตินอนโรงพยาบาล ดูก็ได้ครับ แต่ห้ามไปปรับหยดน้ำเกลือเล่นเชียวนา
                ตระกูล NaCl, หรือ Normal Saline หรือ NSS หรือ นอร์มอล ซาไลน์ ก็จะมีเกลือเป็นส่วนผสม ส่วนถ้ามีตัวเลขหาร ด้วยก็จะเป็นในส่วนความเข้มข้นที่เจือจางลงไป เช่น NSS/2 ก็หมายความว่าปริมาณและความเข้มข้นของเกลือน้อยกว่า NSS ปกติ 2 เท่านั่นเอง
ตัวอย่าง น้ำเกลือ ชนิด นอร์มอล ซาไลน์ (normal saline)

                ตระกูล D เช่นมี ตัว 5%D 10%D ตัว D ในที่นี้ก็คือ dextrose ครับ เป็นน้ำตาลชนิดหนึ่ง และส่วนผสมน้ำตาลนี้มักจะรวมๆกับเกลือครับ เช่น 5% DNSS ก็หมายความว่าในน้ำเกลือขวดนี้มีเกลือและน้ำตาลผสมอยู่ด้วยครับ









ตัวอย่าง น้ำเกลือ ชนิด นอร์มอล ซาไลน์ (normal saline) แบบที่มีน้ำตาลผสมอยู่ด้วย

                      ตระกูล อื่นๆ จริงๆมีอีกมากมายครับ ทั้งแบบผสม โพแทสเซียม แคลเซียม และอื่นๆ แต่ว่าตระกูลนี้จะมีชื่อเฉพาะต่อยอดออกไปอีกซึ่งผมขออนุญาตข้ามไปนะครับ เพราะจะลงลึกในส่วนการรักษามากเกินไปละ และโดยส่วนใหญ่น้ำเกลือที่คุณหมอใช้ก็มักจะสัมพันธ์กับน้ำตาลและเกลือนี่ละ ครับ

                ที่ต้องแจกแจงกันมาเพราะมีผู้ป่วยมักจะมาถามผมครับ เวลารักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยประโยคยอดฮิตเลยคือ อ่อนเพลียค่ะ อยากได้น้ำเกลือสักกระปุก” “ขอนอนโรงพยาบาลครับ เป็นไข้มา 2-3 วัน ได้น้ำเกลือน่าจะดีขึ้น” “ปวดท้องมา 2 วันแล้วกินยาก็ไม่หาย ขอเข้าน้ำเกลือหน่อยนะหมอไม่มีปัญหาครับ เรื่องการให้น้ำเกลือ แต่ที่ต้องอธิบายกันสักนิดเพราะหลายๆท่านยังเข้าใจผิดว่า การให้น้ำเกลือเป็นการให้พลังอย่างดี ช่วยฟื้นร่างกายให้แข็งแรง รักษาได้หลายๆโรค ขอเพียงมานอนโรงพยาบาลให้น้ำเกลือ เดี๋ยวก็ดีขึ้น ถึงขนาดมีผู้ป่วยบางท่านเข้าใจผิดว่า การให้น้ำเกลือดีกว่าการกินข้าว มาขอให้น้ำเกลือทุกวันเลยก็มีครับ(จริงๆนะตัวเธอ) ซึ่งเป็นข้อเข้าใจผิดที่มีผลต่อการรักษาครับ (ไม่ยอมกินข้าวแล้วมาขอเข้าน้ำเกลือเนี่ย.....-_-' )

                 อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วครับ น้ำเกลือก็มีส่วนประกอบเป็นเกลือกับน้ำตาลโดยปริมาณที่คำนวณออกมาแล้วเนี่ย เทียบกับการที่เรากินข้าวไม่ได้เลยครับ ผมเชื่อเหลือเกินว่าไม่มีหมอคนไหนแน่นอนที่บอกคนไข้ว่า ไม่เป็นไรไม่ต้องกินข้าวก็ได้ ให้น้ำเกลือดีกว่ากินข้าวอีกโดยที่ผู้ป่วยรายนั้นกินข้าวได้ตามปกติ

งั้นคุณหมอทั้งหลาย จะให้น้ำเกลือกรณีไหนบ้างละ

1. ผู้ป่วยอ่อนเพลียมากๆชนิดที่กินข้าวได้น้อยมาก หรือกินไม่ได้เลยครับ การให้น้ำเกลือก็เหมือนการให้น้ำกับผู้ป่วยนั่นแหละครับ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องลุกขึ้นมาดื่มน้ำบ่อยๆ เป็นการให้น้ำเข้าสู่กระแสเลือดเลยโดยตรง จะทำให้ผู้ป่วยสดชื่นมากขึ้น แต่ด้วยตัวน้ำเกลือเองไม่ได้มีสารอาหารนะครับ การกินข้าวกินน้ำเองปกติย่อมดีกว่าแน่นอน ดังนั้นยังไงก็ต้องมีการหาสาเหตุว่าทำไมผู้ป่วยอ่อนเพลียกินข้าวได้น้อย เช่นพักผ่อนไม่เพียงพอ ถ่ายเหลวท้องเสียมามาก อาเจียนมามาก เพื่อที่จะได้ทำการรักษาและแก้ไขเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกับมากินข้าวกินน้ำ ได้เองตามปกติ

2. เตรียม ผ่าตัด อันนี้ให้เนื่องจากว่าการผ่าตัดบางอย่าง ต้องมีการงดข้าวงดน้ำก่อนผ่าตัดครับ ดังนั้นแพทย์ต้องมีการให้น้ำเกลือเพื่อชดเชยไม่ให้ผู้ป่วยขาดน้ำได้

3. เป็นโรคบางอย่าง เช่นไข้เลือดออก ลำไส้อักเสบมีการถ่ายเหลวหลายครั้ง อันนี้ให้น้ำเกลือด้วยหลักการเดียวกันครับ คือชดเชยน้ำส่วนที่เสียไปเนื่องจาก ด้วยตัวโรคทั้ง 2 โรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีการขาดน้ำที่ชัดเจนมากครับ ถึงแม้จะกินได้บางครั้งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ต้องให้น้ำเกลือช่วยด้วย

4. ภาวะเกลือแร่ผิดปกติ ในบางครั้งที่มีการเจาะเลือดหรือผู้ป่วยเองมีโรคผิดปกติบางอย่างในร่างกายทำ ให้เกลือแร่ในร่างกายต่ำ หากผิดปกติมากและแพทย์คิดแล้วว่า การกินเพื่อชดเชยอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอ ก็จะมีการให้น้ำเกลือช่วยครับเพื่อแก้ไขความผิดปกติของเกลือแร่เหล่านี้

5. อุบัติเหตุ หรือมีการสูญเสียเลือดไปจากร่างกาย ซึ่งแน่นอนครับย่อมมีการเสีย น้ำ และเกลือแร่ออกจากร่างกายเช่นเดียวกัน จึงต้องมีการให้ชดเชยไปด้วย ครั้นจะให้คนไข้ที่เจ็บตัวอยู่แล้วลุกขึ้นมากินน้ำอยู่ตลอดมันก็ไม่สะดวก จริงไหมครับ

               ดังนั้นโดยหลักการง่ายๆก็คือ การให้น้ำเกลือจะให้ในผู้ป่วยที่ขาด น้ำ เกลือแร่ น้ำตาล ขาดอะไรก็ให้อันนั้นครับ เป็นการรักษาไม่ใช่การบำรุงกำลัง แต่อย่างใด และควรให้ตามความจำเป็นในผู้ป่วยแต่ละรายเป็นกรณีๆไป ถามว่าแล้วทำไมให้แล้วสดชื่นขึ้นละ ก็เพราะอย่างที่เรียนให้ทราบครับว่าก็เหมือนการให้ผู้ป่วยกิน น้ำ+เกลือ+น้ำตาล เข้าไปนั่นแหละครับ แต่ผู้ป่วยไม่ต้องลุกมากินน้ำเอง เหมือนการให้น้ำเข้ากระแสเลือดโดยตรง และด้วยความเชื่อของผู้ป่วยบางรายเอง ว่าถ้าได้น้ำเกลือต้องดีแน่ๆ เมื่อได้น้ำเกลือก็จะรู้สึกสดชื่นมากๆอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน(ปรัชญา เหมือนผ้าอนามัยบางยี่ห้อ)


เจาะเลือดบอกทุกอย่าง


                 บ่อยครั้งครับที่มักจะมีผู้ป่วยมาขอเจาะเลือด โดยจุดประสงค์มีทั้งตรวจสุขภาพ ตรวจเอดส์ ตรวจกรุ๊ปเลือด ฯลฯ ซึ่งบางครั้ง ตอนเจาะไม่มีปัญหาครับ แต่ตอนรับทราบผลเนี่ย บางครั้งมีปัญหา เกือบถึงขั้นฟ้องร้องกันเลยก็มีในบางกรณี กับคำว่า "ผลเลือดคุณปกติครับ"

                ที่จะเรียนให้ทราบตรงนี้คือ การเจาะเลือดเนี่ย ค่าของเลือดเองมีเป็นหลายร้อย หลายพันชนิดนะครับ การที่คุณหมอบอกผู้ป่วยว่าผลเลือดปกติ แปลว่าผลเลือด ในบางโรคที่เจาะตรวจไปนั้นปกติ คำว่า"ผลเลือดปกติ" ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยปกติหมด ไม่เป็นโรคอื่นใดๆเลยแน่นอนนะครับ ต้องดูด้วยว่าเลือดที่เจาะไปนั้นดูโรคอะไร ดูอวัยวะอะไรด้วย เช่น เจาะเลือดดูเบาหวาน(น้ำตาลในเลือด) ผลเลือดเบาหวานปกติ(น้ำตาลในเลือดปกติ) แปลว่าท่านไม่ได้เป็นเบาหวาน ไม่ได้แปลว่าท่านแข็งแรงสบายดีไม่มีโรคอื่นนะครับ(ท่านอาจจะเป็นโรคไขมันใน เส้นเลือดสูงก็ได้)

                หลายคนคงงงว่าอ้าวถ้างั้นจะมั่นใจได้ยังไงละว่าที่ตรวจไป ฉันจะไม่เป็นโรคนั้นด้วยโรคนี้ด้วย ยังงี้ก็ต้องเจาะตรวจทุกค่าของโรคทุกโรคในโลกใบนี้นะสิ (ว้อย!!จะ เล่นคำทำไมให้งง) งั้น"ฉันขอตรวจเลือดทุกอย่างนะคุณหมอ!!"

                คำตอบคือ ไม่ต้องขนาดนั้นครับ เพราะ แพทย์จะเจาะเลือดตามอาการของผู้ป่วย ที่มาพบว่าสงสัยโรคอะไรอยู่แล้ว ถ้ามีโรคจริงก็มักจะมีอาการแสดงร่วมด้วย ส่วนโรคที่บางครั้งไม่ได้แสดงอาการ แต่พบได้บ่อยในผู้ป่วยวัยนั้นๆ หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนั้นได้ คุณหมอก็จะตรวจร่างกายเพิ่มเติม เอกซเรย์ และเจาะเลือดตรวจเผื่อไปด้วยอยู่แล้วครับ หรือที่ชอบเรียกกันว่า สกรีนนิ่ง(screening) ประมาณนั้น

                การเจาะเลือดตรวจสามารถดูได้หลายค่ามากมายครับ แต่ละตัวก็บอกแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นแพทย์จะเลือกตามความเหมาะสมจากอาการ วัย ความเสี่ยง อุบัติการณ์ของโรคนั้นๆในท้องที่นั้น การระบาดของโรคในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น

                ขออธิบายและเกริ่นเรื่องยกตัวอย่างกันสักเล็กน้อยนะครับ สมมติว่ามีผู้ป่วย มาขอรับยารักษาความดันโลหิตสูงกับหมอสุดหล่อท่านหนึ่ง(ไม่ใกล้ไม่ไกล) หมอท่านนั้น จึงขอผู้ป่วยเจาะตรวจเลือดเพื่อติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่า ผู้ป่วยก็บอกว่า เมื่อวานไปเจาะมาแล้วกับอีกโรงพยาบาลหนึ่ง เนื่องจากลูกพาไปเจาะ หมอท่านนั้นจึงถามลูกผู้ป่วยและผู้ป่วยว่าเจาะเลือดอะไรไปบ้าง ลูกจึงบอกว่าไปเจาะ"ทั่วๆไป" ปกติหมด

                นี่ละครับ ที่ส่งผลในการรักษา เพราะ ทั่วๆไปเนี่ยไม่แน่ใจว่าเจาะค่าอะไรบ้าง และที่บอกว่าปกติ คือค่าของอะไร สุดท้ายหมอสุดหล่อท่านนั้นจึงเจาะเลือดซ้ำ และพบว่าค่าเลือดไตผู้ป่วยสูงขึ้นเล็กน้อย จึงมีการปรับยาบางตัว และมาทราบภายหลังว่าที่ลูกผู้ป่วยพาไปเจาะนั้น มีเพียงค่าน้ำตาล และค่าไขมันในเลือด

               สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ การเจาะเลือดนั้น ถ้าผู้ป่วยมีอาการมาพบ แพทย์ก็จะเจาะเลือดตามอาการของผู้ป่วย ที่มาพบว่าสงสัยโรคอะไร ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการอะไรที่ต้องการมาตรวจโรคประจำปีหรือมาตรวจสุขภาพ แพทย์ก็จะสั่งเจาะตรวจเลือดในโรคที่น่าสงสัยและพบบ่อยอยู่แล้วครับ โดยพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆ เช่น วัยของผู้ป่วย ความเสี่ยงในการเป็นโรคนั้น โอกาสที่จะเป็นโรคนั้นได้ ถ้าแพทย์เห็นว่าควรตรวจเลือดโรคนั้นๆหน่อย แพทย์ก็จะตรวจให้อยู่แล้วครับสบายใจได้

               ดังนั้นท่านผู้อ่านควร ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหากมีอาการผิดปกติอะไรปรึกษาแพทย์ ก็จะเป็นการดี และอย่าลืมนะครับ ถ้าเจาะเลือด ถามแพทย์ดูสักนิดครับ ว่าที่เจาะเลือดนั้น เจาะเลือดดูโรคอะไรบ้าง ดูอวัยวะอะไร สงสัยอะไร และค่าปกติหรือไม่ หรืออาจจะขอผลเลือดไว้กับตัวด้วยเลยก็จะเยี่ยมมากครับ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเองและง่ายเพื่อทำการรักษาอย่างต่อเนื่องต่อไป ครับ

                ทั้ง 3 ภาคที่กล่าวมาเป็นเพียงความเข้าใจผิดบางส่วนที่ผู้ป่วยบางท่าน เข้าใจผิด ซึ่งไม่แปลกใจเลยครับ เพราะ "กูไม่ใช่หมอนะเว้ย!! (ขออนุญาตนำคำพูดของผู้ป่วยท่านหนึ่งมาใช้)" และบางครั้งการอธิบายให้ผู้ป่วยรับรู้และเข้าใจทุกคนต่อการตรวจโรคเพียงท่าน ละ 3-4 นาที(รวมเวลาตรวจและรักษา) เป็นเรื่องลำบากมาก จึงอยากจะใช้พื้นที่ตรงนี้ละครับ มาช่วยกันอธิบาย จะได้เข้าใจกันระหว่างหมอและคนไข้ การรักษาจะได้ดำเนินไปด้วยดี มีความสุข (แปะๆๆๆ............ปรบมือเกริกไกร ^^)

ครั้งหน้า เจอกันอีกที กับอีก 1 มหากาพย์ (ไม่ใช่มหากากนะ) เรื่อง เมื่อคนไข้ไม่ได้เห็นว่าโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาล เฮ้ย!!!



 








 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น