คำแนะนำทำใจก่อนอ่านบล็อก

1. บล็อกนี้เป็นบล็อกเพื่อสุขภาพและความบันเทิง
2.ข้อมูลในบล็อกนี้ไม่ควรนำไปอ้างอิง แต่ถ้าจะส่งต่อเพื่อความรู้และความเข้าใจ เชิญเลยจ้ะ
3.โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบล็อก
4.หากจะรักษาโรคใดๆ หรือต้องการข้อมูลสุขภาพสำหรับแต่ละบุคคล ปรึกษาแพทย์โดยตรงเลยดีกว่าจ้ะ

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

บทที่ 3 : โปรดอย่าเข้าใจฉันผิด......(ภาค 2 แล้ว)

ยาแก้อักเสบ VS ยาฆ่าเชื้อ
 

"หมอ ฉันคออักเสบมา 3 วันแล้ว ไปหาหมอมาแล้ว เค้าให้แต่ยาฆ่าเชื้อมา ไม่เห็นให้ยาแก้อักเสบฉันเลย วันนี้ฉันจะมาเอายาแก้อักเสบ"
" หมอแผลมันมีหนองด้วย ฉันอยากได้ยาแก้อักเสบ"
" หมอ ปวดขามา 2 วันแล้ว ขอยาแก้อักเสบหน่อย"
 

                เอาละสิ !! ท่าน ผู้อ่านคิดว่า มันเหมือนกันไหมครับ ยาแก้อักเสบ กับ ยาฆ่าเชื้อ เนี่ย ผมเชื่อว่าหลายๆท่านคิดว่า มันเป็นคนละยา และมีอีกจำนวนหนึ่งที่เข้าใจว่าเป็นยาตัวเดียวกัน และมีอีกจำนวนหนึ่งเข้าใจว่าเป็นยาคนละตัวกันแต่เวลาพูดเข้าใจผิดว่าเป็นยา ตัวเดียวกัน ว้อยยยยยยยงงงง???!!!!!!!!!!!!

                สรุปเลยแล้วกัน จริงๆแล้ว คือ เป็นยา คนละตัวกัน ครับ แต่ด้วยกระบวนการรักษาอาจมีการเข้าใจผิดในระหว่างการสื่อสารได้

ยาแก้อักเสบ โดยความหมายหรือการใช้งานของแพทย์ ก็คือยาลดอาการอักเสบครับ (อ่าวทุบดินซะเจ็บมือ) มักหมายถึงยากลุ่ม NSAID หรือ Non-steroidal anti-inflammatory drugs (ยา ลดอาการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์) หรือในบางคนอาจจะหมายรวมถึง ยากลุ่ม สเตียรอยด์ เข้าไปด้วย ก็คือยาที่จุดประสงค์หลักของการใช้ก็คือ การลดอาการอักเสบครับ

ยาฆ่าเชื้อ ก็คือ Antibiotic drug หรือ ยาแอนตี้ไบโอติก หรือยาฆ่าเชื้อนั่นแหละครับ จุดประสงค์ในการใช้ก็แน่นอน ไว้ฆ่าเชื้อโรค(กรณีเป็นเชื้อแบคทีเรีย)ไง

               ดังนั้นยาทั้ง 2 กลุ่ม เป็นคนละกลุ่มตัวยากันเลยครับ คราวนี้ความเข้าใจผิดมันมายังไงละ ขอยกตัวอย่าง ดังนี้ละกัน

นายตุ้มเปรี๊ยะ มาพบแพทย์ สาเหตุคือมีอาการเจ็บคอเป็นมา 2-3 วันแล้วมีไข้ด้วยละ มาหาหมอปุ๊บ คุณหมอสุดหล่อก็ทำการวินิจฉัย หลังจากนั้น ก็บอก ตุ้มเปรี๊ยะคุงว่า คุณเป็นภาวะ คออักเสบติดเชื้อ(แบคทีเรีย) ครับ แต่ในแพทย์บางคนอาจจะพูดเหลือแค่ว่า คุณเป็นคออักเสบครับ หรือคนไข้บางคนก็จะเข้าใจว่า อ่อเราเป็นคออักเสบนั่นเอง ถามว่ามีใครผิดไหม ไม่มีเลยครับ กะอีแค่ "คออักเสบ" กับ "คออักเสบติดเชื้อ" เนี่ย เพียงแต่การย่อหรือเข้าใจนี้อาจจะทำให้ คนไข้บางคนเข้าใจผิดต่อๆไปได้

               คำว่า คออักเสบติดเชื้อก็คือ คอเราเนี่ยมันอักเสบครับ ถูกต้อง แต่ที่มันอักเสบนั่นมันเกิดมาจากการติดเชื้ออีกที และกระบวนการอักเสบในร่างกายคนเรานั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุครับ เช่น ติดเชื้อ(ในภาวะติดเชื้อต่างๆ) การกระแทกต่างๆ(เช่นอุบัติเหตุกระแทกมีกล้ามเนื้ออักเสบ) มีสารแปลกปลอมอื่นไปอยู่ในร่างกาย(ซึ่งไม่ใช่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย) ดังนั้น การที่ร่างกายคุณอักเสบนั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณติดเชื้อเสมอไปครับ การติดเชื้อนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบได้ เพราะฉะนั้นการรักษาไม่เพียงแต่ต้องลดการอักเสบลง แต่ต้องรักษาไปถึงที่ต้นเหตุด้วยครับ ถ้าเราสามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้

              ดังเช่นกรณีนายตุ้มเปรี๊ยะครับ ซึ่งเป็นคออักเสบติดเชื้อ สรุปก็คือ การอักเสบที่คอนั้นเกิดจากมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หรือการติดเชื้อนั่นเอง ดังนั้นการรักษาต้องให้ ยาฆ่าเชื้อ ซึ่ง แน่นอนเมื่อผู้ป่วยได้รับยาไป ก็จะเข้าใจว่า ตัวเองเป็นคออักเสบ ยาที่ได้ไปก็ต้องเป็น ยาแก้อักเสบ นะสิ ดังนั้น จึงมีการเข้าใจผิดไปว่า ยาแก้อักเสบ คือ ยาฆ่าเชื้อ เป็นตัวเดียวกันนั่นเองครับ และเมื่อแพทย์จ่ายยาฆ่าเชื้อ ให้ผู้ป่วยบางคนจึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าเป็นคออักเสบ หมอไม่ให้ยาแก้อักเสบเหรอครับ (ทำไมให้ยาฆ่าเชื้อละ)จริงๆการรักษาคออักเสบ(ติดเชื้อ) การรักษาหลอดลมอักเสบ(ติดเชื้อ) การให้ยาฆ่าเชื้อ จึงเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ ครับ เชื้อโรคตาย การอักเสบก็จะลดลงไปเองโดยที่ไม่ต้องไปกินยาแก้อักเสบ(จริงๆ) เลย

              คราวนี้หลายคนคง งง งวย งวย งง ว่าแล้ว ยาแก้อักเสบ(จริงๆ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ)ละ มีไว้ทำอะไร ยาแก้อักเสบ(จริงๆ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ) คือยาลดอาการอักเสบอื่นๆที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคครับ เช่น เวลาเราปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออักเสบก็เกิดจากการที่เราใช้งานมาก ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรคแต่อย่างใด ดังนั้น ก็ให้ยาแก้อักเสบกลุ่มนี้ได้เลย ไม่ได้ให้ยาฆ่าเชื้อนะจ๊ะ

ตัวอย่าง ยาฆ่าเชื้อ(แบคทีเรีย) ที่เข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบก็เช่นยา Amoxicillin Roxithromycin ประมาณนี้ครับ

ส่วนยาแก้อักเสบที่เป็นยาแก้อักเสบจริงๆ ก็เช่นยา
Ibuprofen fenac ประมาณๆนี้ ลองไปหาข้อมูลต่อได้ครับ

              คงพอเข้าใจบ้างแล้วนะครับ ว่าจริงๆแล้วยาแก้อักเสบ กับยาฆ่าเชื้อนั้นเป็นคนละตัวกันเลย เพียงแต่การให้การรักษาในบางครั้ง การลดการอักเสบซึ่งเกิดจากการติดเชื้อมักทำให้เกิดการเข้าใจผิดไปว่า ฉันเป็นโรคคออักเสบ ทำไมยาที่ได้จากแพทย์ไป เป็นยาฆ่าเชื้อ ทำไมแพทย์ไม่ให้ยาแก้อักเสบล่ะ เข้าใจกันมากขึ้นนะครับ


กินยามากไตเสื่อม

คุณหมอคะ กินยามากๆนี่ไตไม่เสื่อมเหรอคะ
                  
                เป็นอีก
1 คำถามที่พบบ่อยครับ จริงๆแล้วเนี่ย คำถามนี้ คำตอบก็คงต้องตอบว่า ใช่ครับ กินยามาก ไตเสื่อม แต่ปัญหาคือ กินยามาก ต้องตอบให้ได้ก่อนครับว่า ยา อะไร? และมากเท่าไร? (เอาละสิ)

                ในชีวิตของเราคงไม่มีใครอยากกินยาหรอกครับ (ยาคูลท์หรือ ยาหยีว่าไปอย่าง) แต่คำถามนี้มักมาจากท่านผู้ป่วยทั้งหลายที่เป็นโรคเรื้อรังครับ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกสันหลังทับเส้นประสาทซึ่งรักษาด้วยการกินยา หรือโรคข้อเข่าเสื่อมอักเสบเป็นต้น

                ท่านทั้งหลายเหล่านี้มักมีคำถามคาใจ(พี่เจ ทันมะ?) เวลาไปรักษา หรือเวลาไปติดตามอาการ แล้วแพทย์มีการเพิ่มยา หรือรู้สึกว่ายาที่กินทำไมมันเยอะจัง (แค่ยาก่อนอาหารกินจะอิ่มแล้วเนี่ย) และเวลาไปรักษากับแพทย์ ในบางครั้งแพทย์มักจะบอกว่า ไตเสื่อมแล้วนะครับ เป็นผลจากการกินยามานานด้วย ต้องเปลี่ยนยาแล้วหรือยาแก้อักเสบกินมากมีผลต่อไตนะครับทำให้บางครั้ง ผู้ป่วยรู้สึกกลัวและกังวลมากว่าฉันกินยามากไปไหมเนี่ย!!

                แต่ ปัญหาที่ว่ามานี้จะยังไม่เกิดปัญหาใดๆครับเพราะเป็นเพียงการสงสัย แต่ที่ผมต้องนำมาไขข้อข้องใจคือ ผู้ป่วยบางราย เช่นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง บางท่าน จะ หยุดยาเองเลยครับ(คุณพระ!!!) หรือไม่กินยาตามที่แพทย์แนะนำ โดยให้เหตุผลว่า กลัวไตเสื่อม กลัวตับเสื่อม จึงเลือกที่จะหยุดยาเอง หรือไม่กินให้ครบ เลือกกินเองบางตัว คราวนี้ ปัญหาก็บังเกิดละครับ เบาหวานก็ขึ้น ความดันก็ไม่ลง สุขภาพแทนที่จะดีขึ้น ก็เสื่อมจริงๆละคราวนี้

                ยา ที่เรากินเข้าไปเนี่ย มันจะเข้าสู่กระแสเลือดครับ แล้วก็จะไปที่ ตับ และไตด้วยซึ่งตับและไตนี่เองที่ มีส่วนช่วยในการแปรสภาพยาให้ทำงานและมีส่วนช่วยในการกำจัดยาหรือส่วนประกอบ ที่ไม่เกิดประโยชน์ออกจากร่างกายด้วย

                หากบางครั้งเรากินยาที่มีผลต่อไตหรือตับมากเข้า การทำงานของไตและตับเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้ตับและไตเสื่อมเร็วขึ้น แต่ ช้าก่อนท่านพี่ทั้งหลาย!!!!!!!!!!!!!

โปรดอ่านต่อสักเล็กน้อย(จริงๆอ่านเยอะก็ดีครับ)

                จริงๆแล้ว ก็เป็นความคิดที่ถูกส่วนหนึ่งครับ กับการระวังการกินยา แต่จริงๆแล้วจะเรียนให้ทราบว่า ในผู้ป่วยเบาหวานกับความดันโลหิตสูง หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องกินยาเหล่านี้ แพทย์จะมีการเจาะเลือดเป็นระยะๆอยู่แล้วครับ บาง ครั้ง เจาะทุก 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี เพื่อดูค่าการทำงานของไต และระมัดระวังให้ผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ขึ้นกับผู้ป่วยด้วยนะครับ ว่าจะไปเจาะเลือดตามที่แพทย์แนะนำ และตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอหรือเปล่า

                ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงครับ หากท่านไปตรวจอย่างสม่ำเสมอ ตามที่คุณหมอแนะนำไม่ต้องห่วงว่ากินยาไปจะเป็นอันตรายต่อไตแต่อย่างใด เพราะมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอแน่นอนครับ เพียงแต่มีบางอย่างที่อยากจะฝากไว้ครับ
ตรวจตามที่แพทย์แนะนำ ไปตรวจติดตามสม่ำเสมอ และกินยาให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ อย่าพยายามหยุดยาเอง หรือเลือกกินยาเอง
อย่าหาซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาชุดหรือยาที่ไม่ได้มาตรฐาน
สมุนไพรหรือยาวิเศษหรืออาหารเสริมทั้งหลายแหล่ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ แก้เบาหวาน แก้ความดัน แก้โรคอ่อนแรง แก้สมองเสื่อม แก้ปวดเมื่อย แก้โรคหัวใจ แก้อัมพาต แก้ไตวาย มีส่วนผสมของ เกล็ดหยกขาวบัวหิมะ ผสม วิตามิน อีก 6351 ชนิด(โอ้วนี่มันยาเทพชัดๆ!) รบกวนตรวจสอบให้แน่ใจจริงๆก่อนนะครับ ดูส่วนประกอบดีๆ อย่าเชื่อคำโฆษณามากนัก เพราะยาเหล่านี้บางตัว ทำลายไตได้โดยตรงเลย (เคยเห็นมาแล้วครับ กิน 2 วัน วันที่ 3 ไตวาย บวมทั้งตัวมาเลย)
มีปัญหาปรึกษาแพทย์นะคะคุณ! และอย่าฟังมากครับคำว่า "เค้าว่า...." เพราะพอถามไปถามมา "เค้าว่า...."เนี่ย ไม่รู้เค้าไหน อย่าเดาเองจ้าเพื่อสุขภาพของตัวท่านเองเนาะ

               สรุปก็คือ หากไปตรวจสม่ำเสมอ กินยาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่จัดหายามากินเอง จะกินยาอะไรปรึกษาแพทย์ก่อน และรักษาสุขภาพ เท่านี้ก็จะถือว่าเป็นการดูแลและระวังเรื่องของ
"กินยาแล้วไตเสื่อม" ได้อยู่แล้วครับ

และนี่เป็นอีก 2 เรื่องที่มักมีการเข้าใจผิด และส่งผลต่อการรักษา
ครับ ต่อไปภาคหน้า ติดตามต่อ กับอีก 2 เรื่องยอดฮิต ขอน้ำเกลือหน่อย และ ขอเจาะเลือดหน่อย


 


1 ความคิดเห็น:

  1. 1xbet korean ✔️ 1xbet korean casino bonus codes
    1xbet korean casino bonus 1xbet korean codes. No download needed. Only for this review. Deposit into one of our 100% secured funds.

    ตอบลบ