คำแนะนำทำใจก่อนอ่านบล็อก

1. บล็อกนี้เป็นบล็อกเพื่อสุขภาพและความบันเทิง
2.ข้อมูลในบล็อกนี้ไม่ควรนำไปอ้างอิง แต่ถ้าจะส่งต่อเพื่อความรู้และความเข้าใจ เชิญเลยจ้ะ
3.โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบล็อก
4.หากจะรักษาโรคใดๆ หรือต้องการข้อมูลสุขภาพสำหรับแต่ละบุคคล ปรึกษาแพทย์โดยตรงเลยดีกว่าจ้ะ

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

บทที่ 6 : เมื่อหมอขอดูดราม่า ...(ภาคสอง)


          กลับมาต่อกันกับภาค สอง นะครับในเรื่องราวของหมอที่จะขอดูละครกับเขาสักหน่อย
          
          ก่อนอื่นขอบพระคุณทุกท่านที่เข้ามาติดตามทั้งใน blog และ facebook หมอใหม่หัวใจแนว fanpage นะครับ ซึ้งใจจริงๆ
          
           และก็ขอบคุณสำหรับหลายๆเรื่องราวที่มาร่วมแบ่งปันกับความไม่สมจริงหรือความขัดใจในบางครั้งของตัวละครกันนะครับ มีอีกหลายอย่างที่ไม่ได้ร่างไว้ในเรื่องนี้ (เพราะดูละครไม่เจอ)อีกมากทีเดียว เปิดมิติ ความคิดให้กว้างขึ้นมากจริงๆ
 ก่อนจะไปกันต่อมีคำเตือนสักนิด
1.        จริงๆผมก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรหรอกครับ แหมเข้าใจๆ ยังไงก็แค่ละครนะครับ จะเอาเหมือนเป๊ะ ตรงเป๊ะก็คงยาก (แต่จริงๆถ้าหาข้อมูลสักนิดก็ไม่ยากนะครับ) แต่อันนี้บางทีดูแล้วมันขัดใจนะ แหมที รถพระเอก บ้านนางเอก ฉากหลัง เอาซะเรียล(ของจริง) เชียว เรื่องง่ายๆแค่นี้เปิดในเน็ตก็เจอ ทำให้พวกเค้าบ้างไม่ได้เหรอ... และที่สำคัญอย่างที่บอกครับ บางครั้งคนไข้หรือญาติที่ดูละครแล้ว เข้าใจผิด กับการรักษาจริงๆของหมอก็มี เดี๋ยวจะเมาส์มอยให้ฟังในลำดับต่อไป
2.        เรื่องอยากให้ดาราหล่อๆมาแสดง อันนี้เอาฮาเฉยๆครับ เห็นตัวประกอบหล่อๆสวยๆก็มีกันเยอะ เอามาลองดูก็ได้หนิ (ไม่ต้องจ้างแพง test หน้ากล้องไปก่อน) ผมจะได้เนียน สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้หมอว่า หมอหล่อหมอสวยก็มีเยอะนะฮ้าฟฟ
3.        คำหรือเรื่องราวบางส่วนในภาคนี้อาจจะมีบางคำที่ไม่เข้าใจ หรือถ้าจะเข้าใจอาจจะต้องอธิบายอีกประมาณ 22 ภาค เพราะฉะนั้น ผมจะพยายามสรุปรวบยอดให้ “พอเข้าใจ” อาจไม่ละเอียดมากขนาดเป็นหมอได้เลยแต่ก็น่าจะไม่ผิดจากหลักความจริงนะครับ ส่วนบางคำที่เป็นทับศัพท์จะพออธิบายคร่าวๆแล้วกัน ถ้าอยากเห็นรูปหรืองงๆ คิดไม่ออกว่าคืออะไร ลองถาม google ดูครับ (ค้นคว้าเองบ้างไรบ้างอย่าใช้เน็ตจีบกันอย่างเดียว) ถ้าใน blog ผมจะหารูปมาใส่ให้ดูครับ
           
เรื่องราวที่จะกล่าวต่อไปเป็นเรื่องของ “การช่วยชีวิต” ครับ
          
          ณ ฉากในห้องผู้ป่วยแห่งหนึ่ง แบบห้องพิเศษ มีป้ายบอกชื่อโรงพยาบาลขนาดตัวอักษรแต่ละตัวใหญ่กว่าหน้าปู่นางเอก ติดบนหัวเตียง ภายในมีชายชราอายุ ประมาณ 80 ปี นอนสลบอยู่  น้ำเกลือ 1 ขวด ใส่ ที่ให้ออกซิเจนแบบ แคนูลา (nasal cannula) คือที่ให้ออกซิเจนแบบเป็นสายเล็กมีท่อเล็กๆ 2 อันเข้าไปในจมูกนะครับ มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจติดอยู่พร้อมแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่อ่านแล้วว่าปกติ  ด้านข้างมีหญิงชราใส่ชุดเหมือนจะไปเก็บแชร์ ผมตีกระบังจนหน้าไปเล่นโต้คลื่น ใส่สร้อยทองประมาณ 20 บาทที่คอ
           
นางเอกเปิดห้องเข้ามา หน้าตาตื่น
 
“คุณย่า คุณปู่เป็นยังไงบ้างคะ หนูไม่นึกเลยว่าเรื่องมันจะเป็นแบบนี้”
“สะเดา ย่าเองก็เฝ้า ปู่มา 3 วันแล้ว(ในชุดและทรงผมนี้) หมอบอกว่าปู่ไม่รู้สึกตัว หายใจเองไม่ได้ ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่เนี่ย ย่าไม่รู้จะทำยังไง ฮือๆ (และย่าปวดคอมากทองหนัก .... -_-‘)”
“คุณย่าทำใจดีๆนะคะ สะเดาจะปกป้องคุณย่าเอง”
ฉับพลันนั้น คุณปู่ก็ ชักๆๆๆๆๆๆๆ เกร็งตาค้าง อีโน เอ้ยๆ น้ำลายฟูมปาก ไหลๆออกมา
“คุณปู่คะ คุณปู่เป็นอะไรไป” นางเอกเข้าไปเขย่าตัวคุณปู่ (จากชักอยู่แล้ว เขย่าให้สั่นกว่าเดิม)
“ไม่นะคะคุณปู่!! ไม่นะ!! หมอๆ!!  คุณย่าคะ หนูรีบไปตามหมอนะ” วิ่งหน้าตั้งออกจากห้อง (ซึ่งที่กดเรียกพยาบาลฉุกเฉินก็มี แถวๆเตียงคนไข้นั่นแหละ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่หัวเตียงกับในห้องน้ำ จะวิ่งออกไปทำไม)
           
          ตัดฉาก หมอเข้ามาดูอาการ เป็นชาย อายุประมาณ 45-50 ปีรูปร่างท้วม ผมหงอกนิดหนึ่ง ห้อยหูฟัง ใส่เสื้อกาวน์ยาว ใส่แว่น และต้องเดินออกมาพูดกับญาติคนไข้แบบหน้านิ่ง ไม่ได้อารมณ์ และ แอคติ้ง ห่วยมากกกกกกกกก มาพร้อมกับหญิง 1 นางเป็นพยาบาล แต่งหน้าได้สวยสะเทือนใจเป็นอย่างมาก (พยาบาลเขาฝากมา) หมอเข้ามาดูใช้หูฟัง ฟังคนไข้ 2 ที ทำหน้าตกใจนิดนึง
“หมอ คุณปู่เป็นอะไรคะ !!
“หา !!! คนไข้หัวใจหยุดเต้น ครับ” (กลับมาหน้านิ่ง)
“เราต้องทำการปั๊มหัวใจ ครับ” (หน้านิ่งแบบเสถียรแล้ว)
          
          จากนั้นหมอก็เริ่มทำการปั๊มหัวใจ ด้วยการยืนข้างเตียง ยื่นมือประสานกัน กดตรงหน้าอกคนไข้ เป็นจังหวะแบบ บอซซ่า หรือ แจ๊สหน่อยๆ กดเบาๆ ชิวๆ 3 ครั้งพร้อมทำหน้าพยายามและส่งเสียง “ฮึบ ฮึบ ฮึบ” ภาพตัดไปตัดมาระหว่าง หน้าคนไข้ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ หน้าญาติ และหน้าพยาบาลที่ยืนลุ้นอยู่ข้างหลังนางเอกอีกที พร้อมเพลงประกอบสไตล์ ตื่นเต้นเร้าใจกว่าจังหวะการกดของหมอประมาณ 5 เท่าครึ่ง
“คนไข้กดหน้าอกแล้วไม่ดีขึ้น ครับ”
“เราต้องช็อตไฟฟ้า”
“พยาบาล !! ไปเอาเครื่องช็อตไฟฟ้ามา”
          
          เจ๊ที่เล่นเป็นพยาบาลก็วิ่งตาลีตาเหลือกไปเอาเครื่อง “ช็อตไฟฟ้า”มา หมอจึงรีบช่วยคนไข้ทันที เอา เครื่องช็อตไฟฟ้า ไปวางบนหน้าอก 2 ข้าง
“เคลียร์ !!!” ช็อต ปึ้ง คนไข้กระเด้ง 1 ที ช็อตซ้ำ
“เคลียร์ !!!” ช็อต ปึ้ง คนไข้กระเด้งอีก 1 ที ช็อตซ้ำ
“เคลียร์ !!!” ช็อต ปึ้ง คนไข้กระเด้งอีกสัก 1 ที
          หลังจากคนที่เล่นเป็นปู่(คนไข้)ส่งสัญญาณว่า “เด้งพอแล้วกูปวดหลัง” ภาพตัดไปที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจ แสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ค่อยๆเป็นเส้นตรง
          
           แขนคุณปู่ตกข้างเตียงแบบ สโลว์โมชั่น รูปภาพคุณปู่ที่บ้านหล่นตกแตกแบบสโลวโมชั่น ภาพตัดหน้านางเอกกรีดร้อง
“ม่ายยยยยยยยยยยยยยยยยยยย!!!
“คุณปู่คะ ไม่นะ ไม่นะ ต้องไม่เป็นแบบนี้ ฮือๆ คุณหมอคะ คุณหมอ”
“หมอเสียใจด้วยครับ หมอขอตัวก่อน” หน้านิ่ง -_-'
          นางเอกล้มลงแบบสโลว์โมชั่น ภาพขยายมุมกว้าง ตัดเข้าโฆษณา
          
           หากท่านเจอเหตุการณ์นี้ในชีวิตจริง แนะนำแจ้งตำรวจครับ จับมันทั้งโรงพยาบาลนั่นแหละ อะไรฟะ !!! ไม่ใกล้เคียง ไม่สมจริง ไม่มีเหตุผล ไม่ๆๆๆๆๆๆๆๆ ไม่ใช่แบบนี้

ว่ากันไปเลยทีละประเด็นแล้วกันเนาะ
                   ประเด็นแรก เครื่องช่วยหายใจ หน้ากากออกซิเจน ท่อช่วยหายใจ ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยให้คนไข้หายใจได้ดีขึ้นครับ มีออกซิเจนไปเลี้ยงทุกอวัยวะในร่างกาย แต่อุปกรณ์แต่ละอย่าง มีหน้าที่และจุดประสงค์ที่แตกต่างกันนะครับ
           
          ส่วนใหญ่ในละคร ประมาณ 70-80 % มักจะเข้าใจว่า “เครื่องช่วยหายใจ” คือไอ้หน้ากากที่มาครอบปากครอบจมูก (face mask) หรือ ไอ้สายเล็กๆที่มีท่อ 2 อันใส่เข้าไปในจมูก (nasal cannula) ซึ่งไม่ค่อยถูกนักครับ 2 อันนั้นเป็นเพียงที่ให้ออกซิเจนที่ความเข้มข้นสูงกว่า อากาศปกติเท่านั้น ใช้ในคนไข้ที่มีค่าออกซิเจนในเลือดต่ำเช่น เป็นปอดติดเชื้อ น้ำท่วมปอด แต่มีข้อแม้คือ คนไข้ “ต้องหายใจเองได้” หมายถึงสามารถหายใจเข้าออกเองได้ ไม่ต้องใช้เครื่องช่วย หรือ อธิบายง่ายๆว่าถ้าไม่มีอุปกรณ์ 2 ตัวนี้ คนไข้ก็ยังหายใจเองได้ แต่ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดอาจจะต่ำ อาจเหนื่อย แต่ยังหายใจได้

ขอบคุณภาพจาก http://nursingcrib.com
         
                                       นี่คือ nasal cannula ที่มักเห็นในละคร

     นี่คือ face mask ที่มักเห็นในละคร ซึ่งก็จะมีหลายแบบ ใช้แตกต่างกันครับ
  

          แต่ประเด็นนี้ปู่ของนางเอก หายใจเองไม่ได้ หมายความว่าถ้าไม่มีเครื่อง คนไข้ก็จะหยุดหายใจ ดังนั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (ventilator) มักจะเป็นอีกเครื่องหนึ่ง คล้ายๆคอมพิวเตอร์ มีหน้าจอแสดงรายละเอียดการหายใจ ที่มักจะวางอยู่ข้างๆเตียงคนไข้ในหอผู้ป่วยวิกฤตนะครับ หรืออาจจะเป็นเครื่องสีเขียวๆที่มีเสียงเครื่องตามการหายใจคนไข้ ฟืดฟาดๆประมาณนั้น  และที่สำคัญจะใช้เครื่องนี้ได้ ส่วนใหญ่ต้องใส่ “ท่อช่วยหายใจ” Endotracheal tube ครับ (ใครเคยเห็นการใช้เครื่องช่วยหายใจที่ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจร่วมให้ข้อมูลได้ครับ เพราะผมเองก็ไม่เคยเห็น) 
              เครื่องที่อยู่ข้างๆคนไข้นั่นละครับ เครื่องช่วยหายใจ (ventilator)
                                   ขอบคุณ : http://www.nhlbi.nih.gov


                  เครื่องช่วยหายใจ (ventilator) อีกแบบ (ประเทศไทยใช้มาก)
                                     ขอบคุณ : http://medicine.nus.edu.sg
                                      ท่อช่วยหายใจ (endotracheal tube)
                          ขอบคุณ : http://intensivecare.hsnet.nsw.gov.au


ใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว จะเป็นประมาณนี้ (สายรัดสีฟ้าๆเขียวๆที่แปะตรงปากอันนั้นเป็นที่ยึดท่อช่วยหายใจไม่ให้เลื่อนหลุดเฉยๆครับ จะเปลี่ยนไปแล้วแต่โรงพยาบาล ส่วนท่อช่วยหายใจที่เห็นได้ในภาพนี้คือส่วนท่อที่ยื่นออกมาจากปากแค่นั้น)
                                    ขอบคุณ :http://www.servoprax.com

          
           ซึ่งเครื่องช่วยหายใจนี้มักจะใช้ในผู้ป่วยที่หายใจเองไม่ได้ ถอดเครื่องปุ๊บ หยุดหายใจ หรืออาจจะใช้ในคนไข้ที่หายใจเองได้ แต่ต้องการออกซิเจนที่ความเข้มข้นสูงกว่าหน้ากากปกติจะให้ได้ และคนไข้ที่ผ่านการกู้ชีพมา(เพิ่งปั๊มหัวใจกันมา) ประมาณนั้น
          
            เพราะฉะนั้นอุปกรณ์ให้ออกซิเจนคือ หน้ากากที่มาครอบปากครอบจมูก (face mask)หรือ ไอ้สายเล็กๆที่มีท่อ 2 อันใส่เข้าไปในจมูก (nasal cannula) เป็นคนละอย่างกับเครื่องช่วยหายใจ (ventilator) นะครับ
           
            ประเด็นที่ สอง คือเรื่องการ “กู้ชีพ” หรือการ “ช่วยชีวิต” หรือเรียกง่ายๆว่า “การปั๊มหัวใจ” นั่นแหละครับ
           
          เห็นหลายครั้งแล้วครับ ในละครเนี่ย ปั๊มกันแบบชิวๆ ปั๊มคนเดียว ยืนข้างเตียงแล้วก็กด ฮึบๆ 2-3 ที ช็อตไฟฟ้า 2-3 ที นิ่ง ตาย ........ตายสิ เอ็งช่วยผิดง่ะ
           
          การช่วยชีวิตหรือกู้ชีพเนี่ย มาเป็นทีมครับ ไม่ได้มาหมอ 1 คน ส่วนพยาบาลอีก 1 คนมาช่วยให้กำลังใจแต่อย่างใด ส่วนเรื่องการประเมินคนไข้ ไม่ต้องมาใช้หูฟังฟังอะไรหรอกครับ(เว้นแต่ใส่ท่อช่วยหายใจ) ประเมินดูว่าคนไข้หมดสติ ไม่ตอบสนอง หายใจสะอึกหรือไม่หายใจ คลำชีพจรว่ามีหรือไม่ จากนั้นก็ทำการกู้ชีพได้เลย เพราะการกู้ชีพ ต้องเร็ว แม่นยำ และถูกต้อง 

           ทีม 1 ทีมก็มีหลายคนครับ หมอ 1 คนหัวเตียง ต้องมีเจ้าหน้าที่ช่วยหมอใส่ท่อช่วยหายใจ(คนไข้ที่หัวใจหยุดเต้น แล้วต้องกู้ชีพ มักต้องใส่ท่อช่วยหายใจด้วยครับ เพื่อเปิดทางเดินหายใจให้ออกซิเจนเข้าไปได้ดี) ให้ยากระตุ้นหัวใจ ดูเครื่องกระตุ้นหัวใจ ปั๊มหัวใจ ฯลฯ สรุปคือจะช่วยชีวิตคนหนึ่งคนเนี่ย เค้าจะมาประมาณ 4-5 คนเป็นอย่างน้อยครับ และที่สำคัญทุกคนมีหน้าที่ของตัวเองครับ ไม่ใช่หมอจัดการคนเดียวส่วนที่เหลือยืนให้กำลังใจหรือมายืนให้รู้ว่านี่โรงพยาบาลนะแค่นั้น
           
           เรื่องการปั๊มหัวใจ เขาจะปั๊มด้วยความเร็วประมาณ 100 ครั้งต่อ 1 นาทีครับ (ลองกดเองจะรู้ครับว่าเร็วประมาณไหน) โดยกดให้อกยุบลงไปประมาณ 2 นิ้ว ไม่ได้มานั่งกดชิวๆ ฮึบๆ แตะๆ เบาๆ บอซซ่า แจ๊สอย่างในละคร เพราะฉะนั้นคนกดหน้าอก(ปั๊มหัวใจ) มักจะขึ้นไปบนเตียงคนไข้ นั่งข้างๆเสมอคนไข้เลย หรือยืนข้างๆเพื่อใช้สะโพกเป็นจุดหมุนแล้วก็กดขึ้นลง (คนกดเหนื่อยมาก)


                                             เขากดกันแบบนี้เลยครับ
                         ขอบคุณ http://www.survivalsafetyservices.com

             และที่สำคัญการช่วยชีวิต จะมีการเตรียมเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยเสมอ ย้ำนะครับ “เครื่องกระตุ้นหัวใจ”(defibrillator) ไม่ใช่เครื่อง “ช็อตไฟฟ้า” (คนไข้จะแย่อยู่แล้ว ยังจะเอาเครื่องช็อตไฟฟ้ามาช็อตเขาอีก) ถึงจะใช้ไฟฟ้าเป็นตัวกระตุ้นเหมือนกันแต่รูปแบบมันไม่ใช่การเอาไฟฟ้ามาช็อตคนไข้นะครับ มันยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก อีกอย่างฟังแล้วมันแปลกๆนะครับ

         

                                     เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Defibrillator) ครับ 
                                  ขอบคุณ : http://www.medical2hand.com
          การที่หมอจะตัดสินใจใช้
เครื่องกระตุ้นหัวใจหรือไม่ขึ้นอยู่กับคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ออกมา “ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกครั้งนะครับ” บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้ และการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจจะใช้ร่วมกับปั๊มหัวใจไปด้วย (จะปั๊มต่อไปเรื่อยๆหรือสลับกับใช้เครื่องขึ้นอยู่กับคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ออกมา) ไม่ใช่ปั๊มๆๆๆพอไม่ดีขึ้นก็ช็อตๆๆๆๆ จบ ไม่ใช่นะครับ ต้องใช้ประกอบกันไปด้วย แล้วเวลาที่ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจแล้วก็จะมีการปั๊มหัวใจต่อเนื่องไปเลยครับ ไม่ใช่หลังกระตุ้นแล้วมาหยุดยืนดูว่า คนไข้ตื่นขึ้นมารึยัง กระตุ้นแล้วได้ผลเป็นอย่างไร
           
           ประเด็นต่อมาคือ เรื่องของยา การช่วยชีวิตต้องมีการให้ยากระตุ้นหัวใจด้วยเสมอแหละครับ แต่ชนิดของยา ขนาดของยา ก็จะให้ตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ออกมาเช่นกัน (ในละครไม่ค่อยเห็นนะครับ เห็นแต่มาปั๊มๆช็อตๆจบ)
           
          แต่ก็เคยเห็นละครบางเรื่องครับ ที่เหมือนจะหาข้อมูลมาเกี่ยวกับยา แต่มาไม่ครบนะสิ ในเรื่องช่วยปั๊มๆหัวใจกันอยู่นี่ละครับ หมอสั่ง “อะดรีนาลิน!!” อย่างหล่อ จากนั้นหมอเอามาฉีดให้คนไข้เองเลยครับ คนไข้จากที่หลับอยู่ก็ค่อยๆฟื้น ลืมตา และถามหมอว่าที่นี่ที่ไหน เฮ้ยยยยย!!!  ยาวิเศษหรือคะคุณ !!! มันต้องใช้องค์ประกอบ การปั๊มหัวใจ กระตุ้นหัวใจ ใช้ยากระตุ้นหัวใจ ไปด้วยกันนะจ๊ะ ไม่ใช่ใช้อันใดอันหนึ่งก็พอ โดยจะใช้อะไรบ้าง สลับแบบไหน ตอนไหนปั๊ม ตอนไหนกระตุ้นหัวใจ ต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจหรือไม่ ยาต้องฉีดต่อหรือไม่ เปลี่ยนยาตัวอื่นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคนไข้เป็นกรณีๆไป
           
          ส่วนคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เป็นเส้นตรง หากท่านผู้จัดละครใช้วิธีการปลดออกจากตัวนักแสดง ระวังมันจะขึ้นคำว่า “LEAD OFF” หรือ (ปลายสายที่ติดที่ตัวคนไข้) หลุดออกจากตัวคนไข้ด้วยนะครับ อาจมีเงิบได้
          
          ส่วนคำว่า “เคลียร์” (เต็มๆคือนับ 1...2... เคลียร์ หรือบางที่ก็เห็น You clear ! I clear ! Everyone clear !)เนี่ย เขาไม่ได้พูดเท่ห์ๆนะครับ หรือโฆษณาให้ใครนะครับ เขาพูดให้เจ้าหน้าที่หรือใครก็ตามแต่ที่ยังแตะตัวคนไข้ ออกห่างจากคนไข้ เพราะการกระตุ้นไฟฟ้าก็คือการปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปในตัวคนไข้ในขนาดที่เหมาะสม ถ้ามีคนแตะตัวคนไข้ หรือคนไข้แตะวัตถุที่เป็นเหล็กก็อาจจะลัดวงจร โดนช็อตไปด้วยได้
           
          ประเด็นต่อมาในส่วนของ อาการหลังการปั๊มหัวใจ คนไข้มักจะอยู่ในภาวะโทรมครับ คือ ไม่ได้เครื่องสำอางหน้าเป๊ะขนาดนั้น มักจะมีท่อช่วยหายใจอยู่ในปาก อุปกรณ์ติดตามตัวเต็มไปหมด มีเครื่องช่วยหายใจอยู่ข้างๆและผู้ป่วยมักจะยังไม่ได้สติ
                    ละครบางเรื่องกระตุ้นหัวใจเสร็จ คนไข้เด้งกลับมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วหันไปถามหมอว่า “ที่นี่ที่ไหน” อันนี้ก็เหนือไปนิดนึงครับ
          
         อีกอย่างครับ เวลาถ้าหมอจะหยุดทำการช่วยชีวิต เช่นประเมินแล้วว่าคนไข้บอบช้ำมากเกินไป อวัยวะภายในไปไม่ไหวแล้ว หมอมักจะมาแจ้งให้ญาติทราบก่อนครับ คุยกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เดินออกมา “หมอเสียใจด้วยครับ หมอขอตัวก่อน” อึงจะรีบไปไหนกลับมาอธิบายเขาก่อนอ้ายหมอ!! (เพี้ยนอักษรเพื่อไม่ให้ดูหยาบคาย)
          
          เพราะฉะนั้นจริงๆแล้ว ละครนะทำไม่ยากหรอกครับ ฉากช่วยชีวิตนะ ท่อพลาสติก 1 อันคาบในปาก ติดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทีมช่วยเหลือ 6-7 คน คนหนึ่งบีบที่ให้ออกซิเจนใส่ท่อช่วยหายใจ คนหนึ่งนั่งอยู่บนเตียงเสมอกับคนไข้เลย ปั๊มเร็วๆหน่อย อาจไม่ต้องกดลึกมากก็ได้ในละคร (เพราะกดหน้าอกให้ลึกลงไป 2 นิ้วนี่เจ็บอยู่นะ) มีพยาบาลคนหนึ่งทำท่าฉีดยา ตัดภาพไปมาให้ดูฉุกเฉินเร็วๆ แค่นี้ก็ใกล้ความจริงมากแล้วละครับ
           
           นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่อยากเล่าให้ฟัง ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดมากนะครับ เอาพอเข้าใจง่ายๆ กลัวเข้าใจผิดเหมือนเคยมีกรณีคนไข้เกือบฟ้องหมอด้วยสาเหตุคิดว่า หมอ “ลืม” ใช้ “เครื่องกระตุ้นหัวใจ” ซึ่งจริงๆแล้วคนไข้คนนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ครับ (ซึ่งสุดท้ายคนไข้ก็ปลอดภัยนะครับ)  แต่ญาติมาบอกว่า หมอลืมใช้รึเปล่า เห็นในละครก็มี ถ้าใช้จะดีกว่านี้รึเปล่า ประมาณนั้น

          สำหรับผู้ที่สนใจเพิ่มเติม ไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ครับ CPR guideline ของ AHA หรือ American Heart Association เขาจะออกมาเป็นระยะๆครับ update ตลอดๆตามความรู้ทางการแพทย์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ รู้สึกจะเป็นปี 2010 ล่าสุด ถ้ามีใครใหม่กว่านี้ เรียนเชิญนำเสนอได้ครับ

ปล. 1 รายละเอียดยิบย่อยบางอย่างที่ละเอียดไปขออนุญาตข้ามนะครับ
       2 เว็บไซต์ที่ผมนำรูปมาใช้ ผมนำรูปเขามาใช้เฉยๆนะครับ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บ และรายละเอียดของเว็บแต่ประการใด หากท่านจะตามไปอ่านข้อมูลตามเว็บนั้น โปรดใช้วิจารณญาณด้วย ขอบคุณครับ

มาต่อกัน ครั้งหน้าครับ         

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

บทที่ 6 : เมื่อหมอขอดูดราม่า ...(ภาคแรก)

          สวัสดีครับ ทุกท่าน ตั้งชื่อเรื่องแบบนี้ละก็ เชื่อเถอะว่า 30 % ของคนที่เข้ามาอ่านกระทู้ผม เตรียมต้มน้ำ ปูเสื่อรอกันเลย ซึ่งอยากจะบอกว่า เรื่องราวที่จะเล่าครั้งนี้ หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่ เสพเรื่องราวดราม่าเป็นนิจ อิ่มเอมบันเทิงจิตกับการเห็นกระทู้ที่มีการโต้แย้ง ความคิดเห็นมากมายพรั่งพรูออกมา หรือตัวละครเกรียนแตกโผล่กันมาครบละก็ ผมบอกได้เลยว่าเรื่องราวนี้จะต้องทำให้ ท่าน.....................................ผิดหวังนะครับ (อ้าว เฮ่ย !! งงละสิ)

       เรื่องที่จะเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับละครครับ หาใช่ดราม่าอะไรที่ท่านๆอยากอ่านกัน (จริงๆดราม่าก็ละครนั่นแหละ) เรื่องที่จะเล่าให้ฟังเรื่องนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆครับ อาจจะไม่ได้มีเนื้อหาวิชาการเข้มข้นเหมือนเรื่องอื่น (จริงๆเรื่องอื่นเนื้อหาวิชาการนี่ก็ไม่ได้มีนะ) แต่มันส์มืออยากเขียน คันปากอยากเล่ามาสักพักแล้วละครับ

       ท่านเคยประสบปัญหาการดูละครใช่หรือไม่ (เอ้าคุณจอร์จ!!) ท่านเบื่อหรือไม่ กับความน่ารำคาญของนางอิจฉา (ใช่แล้วซาร่า!!) หงุดหงิดกับความแสนดีของนางเอก (มันเยี่ยมมาก ไมเคิล!!) เซ็งเป็ดกับความโง่ของพระเอกจนอยากจะทอดปลาที่มีน้ำมันผสมโอเมก้า 3 ให้กิน (โอ้พระเจ้า มันยอดเยี่ยมไปเลย!!)

       พอกันที หากท่าน เบื่อ เซ็ง หงุดหงิด กับละครไทย วันนี้เราขอเสนอ นวัตกรรม ใหม่ ที่จะทำให้อารมณ์ขุ่นมัวของท่านหายไป !!ง่ายสะดวก ราคาถูกอย่างเหลือเชื่อชนิดที่ว่า ท่านจะต้องตะลึง และปฏิเสธไม่ได้ เราขอเสนอวิธีนั่นคือ อย่าดูหากท่านเบื่อเซ็งหงุดหงิดท่านก็ อย่าดูจบ.....!

       หลังจากออกทะเลไปไกลและหาสาระอันใดไม่ได้เลยประมาณ 4 ย่อหน้า ผมจะกลับเข้าเรื่องละครับ(ซึ่งควรจะกลับนานแล้วนะ)

        ผมเชื่อว่าเกือบจะทุกท่านที่อ่านอยู่นี้ เคยดูละครแน่นอน ทั้งละครไทย ละครฝรั่ง ซีรี่ย์เกาหลี ฯลฯ  แต่ผมจะขอลงไปที่ละครไทยเป็นหลักละกันนะครับ

        สิ่งที่ท่านหงุดหงิดกับละครไทยหลายคนก็คงจะเป็นดังกรณีข้างต้น เบื่อนางเอก เกลียดนางร้าย อยากได้พระเอกแทนอะไรก็ตามแต่ ผมเองก็เคยดูละครเหล่านี้ครับ แต่สิ่งที่ผมหงุดหงิดไม่ใช่เรื่องเหล่านี้หรอกครับ เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมกับการดูละคร

        แต่ประเด็นที่พอได้เห็นทุกครั้งแล้วรู้สึก หงุดหงิด” “คาใจรวมไปถึง "ขัดหูขัดตา" ก็คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับสุขภาพของตัวละครทั้งหลายครับ ทั้งฉากในโรงพยาบาล บุคลิกหมอ ฉากช่วยชีวิต การทำงานจริง อุปกรณ์เข้าฉาก เวลาดูแล้วบอกตามตรง หงุดหงิดกับความไม่สมจริง ถ้าเป็นบางอย่างเล็กๆน้อยๆพอเข้าใจ แต่บางอย่างขาดความสมจริงเกินไปหน่อยดูแล้ว ขัดหูขัดตา”(จริงๆนะ)

        ก่อนเล่าต่อ ออกตัวแรงล้อฟรีก่อนเลยนะครับ ว่าความเห็นดังกล่าวเป็นความเห็นส่วนตัว ดูเองบ่นเองคนเดียวละครับ(แต่อยากบ่นให้คนอื่นได้ยินด้วย) และจริงๆแล้วผมก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรหรอกครับ จะไม่สมจริงยังไงก็ไม่ได้อะไรขนาดนั้น เพราะรู้อยู่ว่าเป็นละคร แต่แหม สร้างทั้งที เสียตังค์กับฉาก บ้านพระเอก รถนางเอก ระเบิดภูเขา เผากระท่อมไปก็มาก สร้างความสมจริงเผื่อๆสายสุขภาพบ้างสิ เพราะหลายๆอย่างเนี่ย ชาวบ้านเค้าดูแล้วเค้าเข้าใจผิดนะครับ พอเราถามว่าไปเอามาจากไหน เนี่ยวันนั้นป้าดูละครนะ.......ป้าแกว่างั้น

          แถมบางเรื่องมีหมอที่จบแล้วเป็น หนึ่งในตัวละครด้วย (หมอเป็นดารา) แหม ก็น่าจะบอกทางทีมงานเค้านิดนึงอ่ะนะ เพื่อความสมจริงไง ดูไปจะได้อรรถรสด้วย

         เพราะฉะนั้นวันนี้หัวเรื่องผมจึงไม่ผิดนะครับ เมื่อหมอขอดูดราม่า ...ก็คือ เมื่อหมอขอดูละครนั่นเอง วะฮะฮะฮะ

หมอ

        เรื่องแรกที่จะกล่าวถึงก่อนเลยก็คือเรื่อง หมอครับ หมอในละครเนี่ยก็มีหลายอย่างที่ เห็นแล้วขัดใจ ไม่ได้อารมณ์เลยนะครับ

        หากมีเหตุการณ์อะไรก็ตามแต่ที่ทำให้ตัวละครทั้งหลายต้องแห่แหน กันไปโรงพยาบาล ตัวละครหมอๆที่ท่านทั้งหลายคาดคิดคือ....!!!

         ชาย อายุประมาณ 45-50 ปีรูปร่างท้วม ผมหงอกนิดหนึ่ง ห้อยหูฟัง ใส่เสื้อกาวน์ยาว ใส่แว่น และต้องเดินออกมาพูดกับญาติคนไข้แบบหน้านิ่ง ไม่ได้อารมณ์ และ แอคติ้ง ห่วยมากกกกกกกกก (จนอยากไปเล่นเอง)

        อยากเปลี่ยนบ้างอ่ะครับ ปัจจุบันเนี่ยหมอ หนุ่ม หล่อ แต่งตัวทันสมัยมีมากนะครับ แถมอีกเรื่องหนึ่งที่เคยได้ยินคือ ทำไมต้องเป็นผู้ชาย” (เออจริงแฮะ) เดี๋ยวนี้หมอสาว สวย แต่งตัวทันสมัยก็มากเช่นเดียวกัน (บร๊ะ)

        หลายท่านอาจจะบอกว่า อ้าวก็เนี่ยแหละบุคลิกหมอ จะให้ตัวละครดูเป็นหมอไง แหมเปลี่ยนบ้างก็ได้ท่านพี่ ละครหลายๆเรื่องที่ตัวเอกเป็นหมอ ก็ยังเอาหนุ่มหล่อๆสาวสวยๆ มาเล่นได้เลย(พี่โป๊บเงี้ย น้องคิมเงี้ย)  เวลาที่หมอเป็นตัวประกอบหาสาวสวย หนุ่มหล่อมาเล่นมั่งก็ได้ ภาพลักษณ์หมอจะได้ไม่ดู ซีเรียส เคร่งเครียด อนุรักษณ์นิยม ยากแก่การเข้าถึง มากไปไง จะได้ดูทันสมัยดีด้วย

        ที่สำคัญรบกวนปรับแอคติ้งตัวประกอบที่เล่นเป็นหมอหน่อยก็ดีครับ หน้าตาเฉยชา พูดเป็นท่องบทเชียว เห็นแล้วมันรู้สึก อาชีพเค้าง่ะ รักษาภาพลักษณ์เค้าหน่อยจิ ......เอาซะบรรยายไม่ถูกเลย

         พอพูดถึงเรื่องการแสดง อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นแล้วขัดใจมาก คือฉาก บอกข่าวร้ายครับ

         ฉากแรก ณ บ้านนางเอก พ่อนางเอกจู่ๆก็แน่นหน้าอก เฮือก !! โอ๊ะ อั๊ก ล้มลง.....” “คุณท่านคะ!!สาวใช้ข้างกายเห็นตกใจรีบโทรเรียกรถพยาบาล ได้ยินเสียงหวอ+ถ่ายรถพยาบาลแล่นเร็วแบบเต็มสปีด

         ตัดฉากไปอีกทีในโรงพยาบาล พ่อนางเอกนอนบนเตียงมีเจ้าหน้าที่เข็นรถ 1 คน พยาบาล 1 คน พร้อมแพทย์ ชาย อายุประมาณ 45-50 ปีรูปร่างท้วม ผมหงอกนิดหนึ่ง ห้อยหูฟัง ใส่เสื้อกาวน์ยาว ใส่แว่น แอคติ้ง ห่วยมากกกกกกกกก วิ่งมาข้างๆ และนางเอกที่เพิ่งมาถึง

         วิ่งเข้าห้องฉุกเฉิน ก่อนนางเอกจะถูกดันออกมาพร้อมประโยคคลาสสิก(เห็นทุกเรื่อง)ญาติเข้าไม่ได้นะคะ คุณคะญาติเข้าไม่ได้นะคะพร้อมกับ ความฉุกละหุก (กล้องสั่นไปมา) ปิดประตูห้องฉุกเฉินใส่หน้านางเอก นางเอกซุดตัวหน้าห้องฉุกเฉินร้องไห้พร้อมพระเอกและหมู่คณะตามมา

          ตัดฉากอีกที ประตูห้องฉุกเฉินเปิดออกมา แพทย์ ชาย อายุประมาณ
45-50 ปีรูปร่างท้วม ผมหงอกนิดหนึ่ง ห้อยหูฟัง ใส่เสื้อกาวน์ยาว ใส่แว่น แอคติ้ง ห่วยมากกกกกกกกก แต่ไม่ใช่คนเดิมกับที่เข้าไปตะกี๊ ออกมา ญาติ+นางเอกเข้าไปถามว่า คุณหมอคะ คุณพ่ออาการเป็นยังไงบ้างคะ” “หมอเสียใจด้วยครับตัดภาพถ่ายหน้านางเอก ช็อคแบบ สโลว์โมชั่น ทรุดตัว พระเอกตามปลอบ ก่อนหมอจะบอกว่า หมอขอตัวก่อน” ก่อนจะเดินออกไปจากฉาก

        คัตตตตตตตตต !!! จะบ้าเรอะครับ !!!!!!!!!! อันนี้หงุดหงิดมากกกครับ ปกติหมอเวลาคุยกับคนไข้เนี่ย เค้าคุยกันเยอะกว่านี้นะ และญาติก็ถามเยอะกว่านี้นะจ๊ะ
1. ญาติที่คุยด้วยนะเป็นอะไรกับคนไข้
2. คนไข้เป็นอะไร ประวัติเดิมคนไข้ไม่ซัก ไม่ถามอะไรเลยเรอะ
3. ถ้าเสียชีวิต ได้ปั๊มหัวใจช่วยรึเปล่า
4. อาการคนไข้เป็นอะไร คิดว่าน่าจะเสียชีวิตจากอะไร
5. จะชัณสูตรไหม
6. แสดงความเห็นใจกับญาติผู้ป่วย
7. ญาติสงสัยอะไรหรือไม่

           ทั้งหมดถูกรวมด้วย ประโยคที่ว่า หมอเสียใจด้วยครับ หมอขอตัวก่อน”  แค่เนี้ยะ !!! แค่เนี้ยะจริงง่ะ !! เป็นทุกเรื่อง เท่าที่ดูมาน้อยมากที่จะมาบอกว่าคนไข้เป็นอะไร ตอนนี้ปั๊มหัวใจอยู่นะ อาการไม่ค่อยดี หรือสุดท้ายถ้าเสียชีวิตเบื้องต้นหมอคิดว่าเป็นจากอะไร แถมพอเค้าเสียใจ ไม่แสดงออกอะไรเลยบอกอีก หมอขอตัวก่อนแหนะ!! เป็นทุกเรื่อง จะว่า หมอยุ่งไปดูคนไข้หนักอื่นก็ไม่น่าใช่เพราะเห็นเดินไปคนละทางกับห้องฉุกเฉิน(แล้วก็ไม่ได้ดูรีบ) อ้อแล้วอีกอย่าง หมอคนที่วิ่งเข็นมากับเตียงคนไข้ทีแรก หายไปไหนแหล่ว ทำไมเป็นหมออีกคนละงง?? (สงสัยมีหลายทีม เอ้าหยวนๆ)

       เรื่องความสามารถของหมอ+โรงพยาบาลนี่ก็น่าสนใจครับ จำได้ว่าเคยมีเรื่องหนึ่ง นางเอกถูกยิง พระเอกพานางเอกไปหาเพื่อนตัวเองที่โรงพยาบาล ฉากนี่ดูก็รู้ครับว่า โรงพยาบาลชุมชนแน่ๆ เพื่อนพระเอกบอกว่ามีกระดูกร้าวนะ และสงสัยโดนเส้นเลือดสำคัญ ต้องผ่าตัดด่วน จากนั้นก็เป็นฉาก หน้าห้องผ่าตัด ไฟผ่าตัดเปิดพรึ่บ จากนั้นเป็นรูปนาฬิกาหมุนไปๆ+หน้าอันกระวนกระวายของพระเอก ตัดฉากอีกที ไฟผ่าตัดปิดพรึ่บ นางเอกนอนที่เตียง ตื่นมา มีพระเอกกุมมือหลับตาพริ้มอยู่ข้างเตียง พระเอกตื่นขึ้นมามองตานางเอกอย่างซึ้ง จากนั้นเพื่อนพระเอกก็ออกมา คุยกับนางเอกว่า นอนสบายไหมครับ โรงพยาบาลเราเป็นโรงพยาบาลเล็กๆนะครับนางเอกก็สวยใส่เพื่อนพระเอกว่า ไม่หรอกค่ะ ถึงจะเป็นโรงพยาบาลเล็กๆแต่สงบและอบอุ่นมากทีเดียวก่อนจะมองตาพระเอกอย่าง ซึ้งอีกรอบเพื่อนพระเอก เล่าให้ฟังว่า ผ่าเอากระสุนออก ดามกระดูก และซ่อมเส้นเลือดเส้นเอ็นที่ขาด

         คัตตตตตตต !! อ้าว !! โรงพยาบาลเล็กๆแต่ทำ ผ่าเอากระสุนออก ดามกระดูก และซ่อมเส้นเลือดเส้นเอ็นที่ขาด ได้ทั้งหมดนี่นะ (โอ้วคุณพระ)  เทพ เทพจริงๆ ทั้งหมอ ทั้งทีม ทั้งโรงพยาบาล

         คือก็ยอมรับนะครับว่าจริงๆแล้วหมอทั่วไปที่อยู่ตามโรงพยาบาลชุมชน จะพอทำได้บ้าง แต่ถ้า คนไข้นั้นซับซ้อนหรือต้องการอุปกรณ์ที่พร้อมกว่าก็ต้องส่งตัวไปยังที่ที่ พร้อมกว่า หรือมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

         ซึ่ง ผ่าเอากระสุนออก ดามกระดูก และซ่อมเส้นเลือดเส้นเอ็นที่ขาด เนี่ย ไม่น่าจะทำในโรงพยาบาล เล็กๆตามที่เพื่อนพระเอกบอกได้ เว้นแต่เพื่อนพระเอกจะเป็น super doctor K (การ์ตูน) ปลอมตัวมา...


ไว้ตอนหน้ามาต่อกันครับ


ปล. สำหรับผู้ที่อยากอ่านเรื่องอื่นๆย้อนหลังเปิด google และ facebook ค้นหา หมอใหม่หัวใจแนวได้เลยครับ




วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

บทที่ 5 : เพราะเราไม่เข้าใจกัน (ภาคห้า)

          กลับมาคราวนี้ เพราะหัวใจมันขอมา ให้ตามหา ความทรงจำ......(ทันไหม ถ้าทัน คุณสูงวัยขึ้นนะครับ จ๊าก!!)
         
          สวัสดีทุกท่านครับ กลับมาอีกครั้ง ตามคำเรียกร้อง(ของตัวเองเห็นๆ) ขออภัยกับการหายไปนานครับ ติดภารกิจบางประการจึงทำให้ห่างหายจากการเขียนไปนาน จนภาคสี่ของเรื่องนี้ไม่รู้หายไปไหนแหล่ว

          กลับมาต่อกันถึงเรื่องความไม่เข้าใจระหว่างหมอกับคนไข้ที่ทำให้ก่อเกิดเรื่อง การฟ้องร้อง ร้องเรียน บลาๆอีกมากมายตามมานะครับ (ลืมเค้ากันหมดแล้วดิ)

          ภาคที่ 1-4 คง ต้องไปเสาะหาเอาตาม google ก่อนละนะครับ แต่ผมขออนุญาตสรุปรวบยอดเผื่อผู้ที่เข้ามาเห็นเรื่องนี้เป็นครั้งแรกจะได้พอได้แนวคิด

          สำหรับเรื่อง “เพราะเราไม่เข้าใจกัน” นี้เป็นเรื่องที่ผมเองเขียนขึ้นมาเพื่อรวบรวมบางสาเหตุหรือบางเหตุผลที่คนไข้และหมอไม่เข้าใจกันแล้วมีผลต่อการรักษา มีการร้องเรียน ฟ้องร้อง ซึ่งจริงๆแล้วหากหมอและคนไข้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน ประเด็นฟ้องร้อง(ซึ่งเจ็บปวดทั้ง 2 ฝ่าย) ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น (อาจจะนะ) ผมจึงลองเขียนและอธิบายในมุมมองของหมอคนหนึ่งซึ่งมีโอกาสได้ประสบเหตุการณ์มาเอง ได้พูดคุยกับคนไข้ และได้รับฟังบางเหตุการณ์มาจากเพื่อนแพทย์บ้าง

          บางเหตุการณ์สาเหตุก็มาจากหมอ บางครั้งก็มาจากคนไข้ญาติๆ(และชาวคณะ)  และบางครั้ง ก็ไม่ได้มีใครเป็นต้นเรื่อง ไม่ได้มีใครผิดเลย หมอไม่ได้รักษาผิด คนไข้ไม่ได้โวยวาย แค่เกิดความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดซึ่งกันและกันนั่นเอง

          ในส่วนประเด็นของหมอ คนไข้ และการสื่อสาร ผมได้กล่าวไปแล้วในภาค 1-4 (เยอะยังกะ หนังพ่อมด) ภาค 5 นี้ผมจะขอนำเสนออีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางครั้งเกิดความเข้าใจผิดกันมากขึ้นระหว่างหมอและคนไข้

สื่อ, เทคโนโลยี, การเมาส์มอย และข่าวลือ
           
          ในปัจจุบันนี้ สื่อและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งยวดในชีวิตเรา ทำให้โลกเราแคบลงอย่างชัดเจน การเดินทางสะดวกขึ้น การสื่อสารรวดเร็วฉับไว ข่าวข้อมูลจากซีกโลก สามารถไปโผล่อีกซีกโลกได้อย่างรวดเร็วปรู๊ดปร๊าด (ถ้าเน็ตไม่ค้าง และจ่ายตังค์ครบ)
          
          ซึ่งแน่นอนครับเป็นเรื่องที่ดี เพราะความรู้ใหม่ๆในวงการแพทย์ ข่าวคราวต่างๆด้านสุขภาพ การแจ้งโรคระบาด โรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ การให้ความรู้ด้านการแพทย์ ก็จะรวดเร็วฉับไว รักษาทัน ป้องกันดี ชีวีก็เป็นสุข (มาเป็นคำขวัญทีเดียว)
          
          แต่แน่นอนครับในทุกอย่างมีข้อดีก็ย่อมต้องมีข้อเสีย หลายๆครั้งที่สื่อหรือเทคโนโลยีก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกันได้
          
           เกิดได้ยังไงกัน !!! (จะบิ้วด์อารมณ์ทำไม)  เพราะสื่อมันเร็วนี่ละครับ บางที “เร็วเกิน” จนคนที่บริโภคสื่อเข้าไปอาจขาดการไตร่ตรองหรือดูให้ดีก่อนว่า สื่อที่ตัวเองบริโภคเข้าไปนั้น “ถูกหรือผิด”
1.        มาจากแหล่งที่ถูกต้อง เชื่อถือได้
2.        ข้อมูลที่นำมาทั้งหมดเป็นความจริงไม่ได้ผ่านความรู้สึกหรือเรื่องเล่า  มาอีกที
3.        มีข้อมูล “ครบ” ไม่ถูกทำให้สาบสูญ หรือคัดมาเฉพาะส่วนที่เร้าใจคนทั่วไปมากกว่า

          ซึ่งบางครั้งความเข้าใจผิดก็เกิดจากสื่อที่เอาข้อมูลมา เอาข้อมูลไม่ครบบ้าง ข้อมูลผิดไปจากความเป็นจริงบ้าง เอามาผิดเวลาบ้าง ผิดพลาดทางระบบนำเสนอทำให้เกิดความเข้าใจผิดบ้าง
         
          แต่บางครั้งสื่อก็เอาข้อมูลมาถูกหมดครบถ้วน แต่คนที่เสพเข้าไปต่างหากที่เสพไปผิด ตีข้อมูลไม่แตก เข้าใจไปผิดเอง แล้วไปเผยแพร่ต่อแบบผิดๆอีกต่างหาก

           หากท่านเคยดูรายการ game zone (สมัยวิลลี่ยังหนุ่มแน่นเปรี๊ยะๆ) ทันเปล่า 55 จะมีเกมส์หนึ่งที่ให้ใบ้คำโดยคนแรกดูคำใบ้จากนั้นก็ใบ้ส่งต่อคนต่อไป ส่งคนต่อไปเรื่อยๆเป็นทอดๆประมาณ 4-5 คน จนคนสุดท้ายต้องทายว่าคำใบ้คืออะไร เป็นตัวอย่างที่ดีเลยครับ คำที่คนแรกเห็นคือ ไดโนเสาร์ คนสุดท้ายทายว่า มอเตอร์ไซค์ (ใกล้กันมาก)   ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่ดีเลยว่าบางครั้งการส่งข้อมูลมาเป็นทอดๆ เล่ากันไป เล่ากันมา ปากต่อปาก ก็ไม่ได้ถูกเสมอไป

          ผมขออนุญาตยกตัวอย่างเหตุการณ์ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆท่านน่าจะเคยผ่านๆตามาบ้างก็แล้วกันครับ (เอ่อ.....เอาเป็นว่าผมสมมติดีกว่า เดี๋ยวไปพาดพิงใครเข้าจะซวย เป็นเหตุการณ์สมมติล้วนๆละกันนะครับ)

มีคนไข้ชายคนหนึ่ง อายุ 16 ปี ไปหาหมอด้วยประวัติ เหล่สาวช่วงสงกรานต์แล้ว  เดินตกท่อ ขาซ้ายหัก...

หลังจากไปหาหมอแล้วหมอจึงพิจารณาให้ใส่เฝือก....
เนื่องจากหนุ่มคนนี้เล่น facebook จึงเอารูปตัวเองใส่เฝือก พร้อมทั้งเอกซเรย์ ขึ้น facebook

ทันใดนั้น แฟนของหนุ่มคนนี้ผู้หวังดีจึง
comment เข้ามาถามว่า
“ตะเอง ตะเองกาดูก หักไม่ต้องผ่าตัดหรอออ  เค้าเคยด้ายยย ยินมาว่ากระดูกขาหักมานน ต้องผ่าตัดนะงับ ไม่งั้นกระดูกจาไม่ติด นะ อิอิ ครุคริ งุงิ งืมๆ”
ก่อนแม่ของเด็กผู้หญิงคนนี้จะตบกระโหลกทีแล้วบอกว่า “ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องนะคะคุณลูก”
“เธอ เธอ กระดูกหักไม่ต้องผ่าตัดเหรอ ดิฉันเคยได้ยินมาว่ากระดูกขาหักมันต้องผ่าตัดนะคะ ไม่งั้นกระดูกจะไม่ติดค่ะ”
         
          เด็กผู้ชายคนนี้ก็เลยกลัวครับ จึงเอารูป และเอกซเรย์ขึ้นไปถามในกระทู้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ โดยเป็นกระทู้ถามว่า “แบบนี้หนูจะท้องไหม” เฮ้ยไม่ใช่ๆ "หมอรักษาผมผิดหรือเปล่าครับ"
         
           ซึ่งเมื่อกระทู้นี้ขึ้นไปมีคำสำคัญ “หมอ” “รักษาผิด” เหล่าผู้ที่อ่านกระทู้แตกบ้างไม่แตกบ้างทั้งหลายก็เข้าไปกระหน่ำตอบ ได้คำตอบมามากมาย ทั้งต้องผ่า ทั้งไม่ผ่า ความเห็นหลายความเห็นก็อ้างว่าเป็นหมอ, มีคนรู้จักเป็นหมอ, ทำงานด้านสาธารณสุข เห็นควรน่าจะต้องผ่า บางความเห็นก็บอกว่าหมอโรงพยาบาลนี้ชื่อเสียงไม่ค่อยดีนะครับผมว่าต้องรักษาผิดแน่ๆ ปูเสื่อรอ ต้มน้ำรอ บางความเห็นก็ว่า ปรึกษาแพทย์ท่านอื่น เปลี่ยนโรงพยาบาล เชื่อหมอคนเดิมดีกว่า ยืนยันหมอรักษาถูกแล้ว หมอปกป้องพวกเดียวกัน
!@#$%^&*()_+ ฯลฯ (กระทู้นี้ก็เสพดราม่ากันจนอิ่มเอมเปรมใจ)
         
          สุดท้ายคนไข้กลับไปหาหมอคนเดิมเพื่อปรึกษา ซึ่งหมอก็ตอบว่า “ใส่เฝือกถูกแล้วครับ” คนไข้ก็ยังไม่แน่ใจต้องไปหาหมออีก 2-3 ที่เพื่อยืนยันว่า หมอคนแรกรักษาถูกหรือไม่ ซึ่งก็ได้คำตอบว่า “ถูกแล้ว”
                      
           ท่านผู้อ่านเห็นอะไรไหมครับ กรณีนี้เป็นกรณีเล็กๆสุดท้ายก็ไม่ได้มีการฟ้องร้อง ไม่มีปัญหาอะไรตามมา (จริงๆคนไข้ก็เสียความรู้สึก และต้องเสียเวลา เสียตังค์ไปพบหมออีก 2-3 ที่นะครับ) แต่สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อคือ ความไม่เข้าใจกัน ไม่เชื่อใจกัน ระหว่างหมอกับคนไข้ ได้เกิดขึ้นมาแล้ว
         
          กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่มากครับ คนไข้แก้ปัญหาด้วยการไปปรึกษาหมออีก 2-3 ที่ เพื่อยืนยัน (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ท่านทำได้ครับ หากสงสัยในการรักษาของหมอจริงๆ) 
แต่หากเป็นกรณีที่ใหญ่กว่านี้ ความเสียหายหนักกว่านี้ ผมเชื่อแน่ว่าจะไม่จบแค่ไปปรึกษาหลายๆที่ แต่เริ่มจะมีสิ่งที่อยู่ในใจว่า “หมอรักษาผิดรึเปล่า” "หมอรักษาผิดแน่ๆ" และแน่นอนที่สุด คำว่า “ฟ้องร้อง, ร้องเรียน” ก็จะตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย
         
          ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องนี้แทบจะไม่มีอะไรเลยหากคนไข้ เข้าใจการรักษา ไม่ไหลไปตามข้อมูลที่ได้มาโดยที่ไม่ได้กลั่นกรองว่าข้อมูลนั้นมาจากคนที่เชื่อถือได้หรือไม่
comment ที่บอกว่าเป็นหมอนะ จริงๆแล้วเป็นหมอรึเปล่า(หลายครั้งไปครับที่ในโลก internet เราจะเป็นอะไรก็ได้) นักเสี้ยมทั้งหลายในเน็ตก็เยอะ ที่จะนำพากระทู้ไปสู่ดราม่าแบบงงๆ(หวังว่าไม่มีในกระทู้ผมนะ)
                     
         ทั้งๆที่ไปเจอคนที่รักษาได้ถูกต้อง มีความรู้จริงแล้ว แต่พอโดนกระแสมากๆเข้าก็เขวได้เหมือนกัน ถ้าเกิดคนไข้คนนี้เกิดเชื่อกระแสมากกว่า ไปหาหมอแล้วไปฟ้องร้อง บอกสื่อ up facebook “หมอมั่วรักษาผมผิด” หมอคนนั้นก็อาจจะโดนสังคมพิพากษาไปแล้วว่ารักษาผิด(แบบงงๆ)  ทั้งๆที่จริงๆแล้วรักษาถูกแล้ว พอมาแก้ข่าวทีหลังก็ไม่รู้จะมีประโยชน์รึเปล่า
         
          บางครั้งสื่อข้อมูลต่างๆที่มาถึงเรา เราก็ต้องพิจารณาให้ดีก่อนครับ ว่าข้อมูลที่ได้มาถูกต้องหรือไม่ อ่านให้แตกก่อน “หมอรักษาผมผิดรึเปล่าครับ” หมายความว่ามาถามว่าหมอรักษาผิดรึเปล่า ไม่ได้มาบอกว่าหมอรักษาผิด
         
           หรือบางครั้งที่ข่าวมีการฟ้องร้องหมอมาเข้าหูเราว่า หมอรักษามั่ว รักษาผิดแล้วหมอถูกฟ้อง ก็ต้องดูก่อนครับว่า อยู่ในขั้นสอบสวน หรือ ตัดสินไปแล้วว่าผิด เพราะหลายๆครั้ง ข่าวที่บอกว่าหมอรักษาผิด(ประโคมข่าวใหญ่โต รู้ทุกคน) บางคนฟังไม่ดีก็ซัดหมอก่อนเลย หมอชั่ว มั่วนี่หว่า หมอจ๊าดดง่าวววว(ขออภัยหากสะกดผิด) หมอผิดแหงๆ ปรากฏว่ายังอยู่ในขั้นสอบสวน พอสอบสวนออกมาหมอถูกต้องแล้วคนไข้เข้าใจผิด ที่นี้จะแก้ข่าวให้หมอก็ลำบากเหลือเกิน(ข่าวเล็กๆมีคนรู้มั่งไม่รู้มั่ง) เพราะหมอเองก็ถูก “สังคม” ตัดสินไปแล้วว่า “ผิด” หรือพอบอกว่าหมอถูก ก็จะถูกตัดสินไปว่า “หมอปกป้องพวกเดียวกัน”
         
            คนเรามักจะเชื่อสิ่งที่รู้เป็นครั้งแรกก่อนเสมอละครับ อะไรที่ไม่เคยรู้มาก่อน พอได้มารู้มักจะเชื่ออันนั้นไปก่อนเสมอ พอมีความจริงใหม่ๆเข้ามาก็มักจะคิดว่าจริงรึเปล่า มั่วหรือเปล่า(ขัดต่อสิ่งที่รู้อยู่เดิม) ทั้งๆที่บางครั้ง ความจริงที่ตามมาทีหลังเป็นสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าตอนแรก (การใส่ความเข้าใจใหม่มักง่ายกว่าการแก้ความเข้าใจเดิม)
         
          เรื่องราวเกี่ยวกับการฟ้องร้องหมอ ร้องเรียนหมอทั้งหลาย หมอผิดจริงมีหรือไม่ ตอบว่า “มี” หมอไม่ผิด มีหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า “มี” เช่นเดียวกัน
         
         เพราะฉะนั้น รบกวนฝากท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านของผมใช้วิจารณญาณ  กันสักนิดก่อนจะ เชื่อ หรือ ไม่เชื่อ อะไร เพราะบางครั้งข้อมูลที่ได้มา ผ่านมาจากหลายที่ หลายแหล่ง ต้องดูหลายๆอย่างก่อนจะเชื่อถืออะไรไปนะครับ เราไม่ได้เห็นเหตุการณ์กับตา ฟังมา รู้มาอีกต่อหนึ่ง ต้องพิจารณาดีๆก่อน เพราะผมไม่อยากให้
ท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านของผมไปเป็นหนึ่งในกระบวนการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ แถมเนียนตามกระแสมั่วนะเออ เพราะพวกข้อมูลผิดๆเหล่านี้ คนที่ไปเล่าต่อ หรือเผยแพร่ ไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่คนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนอื่นก็น่าเห็นใจเขา

         เพราะเราเองก็คงไม่อยากให้มีข่าวลือ การให้ร้าย เกี่ยวกับตัวเราแบบผิดๆเกิดขึ้นหรอกจริงไหมครับ

         เพราะฉะนั้นหากจะหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาคนอื่นเพิ่ม ก็ควรจะดูด้วยว่าแหล่งข้อมูลที่ได้มาเชื่อถือได้รึเปล่า...และควรใช้วิจารณญาณมากๆนะจ๊ะก่อนที่จะเชื่อข้อมูลอะไรเพื่อประโยชน์ของคนที่เขาได้รับผลกระทบโดยตรง โดยอ้อม รวมถึงตัวท่านผู้อ่านเองด้วย
         
          ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา 5 ภาค เป็นบางส่วนกระจิดริดที่ทำให้หมอและคนไข้ไม่เข้าใจกัน ไม่เชื่อใจกัน ซึ่งมองผ่านความคิดและมุมมองของหมอคนหนึ่ง ซึ่งแน่นอน ทุกท่านก็ต้องใช้วิจารณญาณในการเสพนะครับ(บร๊ะ!! เนียนต่อเลย)  ซึ่งผมหวังว่า 5 ภาคที่ผ่านมาคงจะทำให้ท่านผู้อ่านหลายๆท่านเข้าใจหมอมากขึ้น ส่วนหมอเองก็เข้าใจคนไข้มากขึ้น เพื่อที่เราจะได้ “เข้าใจกันมากขึ้น” ซะทีเนาะ
         
          ว่าแต่ท่านผู้อ่านที่อ่านมาเชื่อไหมครับ ว่าผมเป็นหมอ ผมอยากจะบอกว่า เชื่อเถอะครับ ........... ค้าวว เป็งหมอจิงๆน้า (โป๊ก
!! โดนตบกระโหลก)  ผมเป็นหมอจริงๆครับ ^^

จบมหากาพย์ อีก 1 เรื่องครั้งหน้าหักโหมดเข้าสู่เรื่องเกรียนๆจากมุมมองหมอกันหน่อย “เมื่อหมอขอดราม่า”
ปล.
          1 เว็บบล็อก เสร็จแล้วครับ แต่ลง link ไม่ได้ (กระทู้จะสาบสูญได้) เอาเป็นว่า ไปถามหา “หมอใหม่หัวใจแนว” จาก google ละกันนะครับ มีเว็บหนึ่งเจ๊งเว็บหนึ่งไม่เจ๊ง
          2. facebook ก็มีแล้วเหมือนกันครับ ไปหา “หมอใหม่หัวใจแนว” ใน facebook ละกันนะครับ ถ้าอยากพบกัน
          3.ขอบคุณหลายๆท่านที่แนะนำว่าควรทำเป็น บล็อกหรือ facebook เก็บไว้บ้าง เพราะเสียดายที่อุตส่าห์เขียน ขอบพระคุณจากใจครับ