เมื่อฉันไปพบแพทย์ (ภาคสอง)
มาถึงภาคต่อของมหากาพย์การไปพบแพทย์กันครับ (ว่าเข้านั่น) หลังจากที่เตรียมตัวและรับทราบอาการที่จะไปโรงพยาบาลกันแล้วเราก็จะออกจาก บ้านกันครับ ทีนี้เราจะมาดูกันครับว่าจะไปโรงพยาบาลยังไง (อะแน่!!!!!!!!!งงละสิ ไปได้หลายทางครับ)
·
รถส่วนบุคคล อันนี้ไปได้ตามแต่สะดวกครับ เลือกยี่ห้อได้ตามใจ(และเงิน)ของท่านเลย อยากไปรถเบนซ์ BMW หรือจักรยานก็แล้วแต่(อันหลังนี่เหนื่อยหน่อย)
· รถโรงพยาบาล ในกรณีนี้แล้วแต่สถานพยาบาลครับถ้าเป็นโรงพยาบาลชุมชนบางครั้งเป็นหวัดนิดหน่อยก็เรียกรถโรงพยาบาลได้(ไม่เสียตังค์)แต่ก็ต้องแล้วแต่โรงพยาบาลนั้นๆด้วยนะครับ หรือโรงพยาบาลเอกชนก็เรียกได้(เสียตังค์หรือไม่แล้วแต่สถานพยาบาลนั้นๆครับ)
แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐที่เป็นศูนย์ใหญ่ๆอาจจะใช้เฉพาะในกรณีที่ฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น เช่น คนไข้ชัก หอบ ตกบันไดหมดสติ อุบัติเหตุ (ตกบันไดเลื่อนเจ็บนิ้วเท้าเล็กน้อยคงไม่ไปรับครับ) สำหรับหมายเลขโทรศัพท์สามารถสอบถามที่โรงพยาบาลนั้นๆเลยนะครับ หรือจะมีหมายเลขด่วนในแต่ละท้องที่ เช่น1669 เป็นต้นครับ
เมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็ต้องดูก่อนนะครับว่าจริงๆแล้วเราจะมาตรวจอะไรคนไข้โดยส่วนใหญ่จะแบ่งง่ายๆดังนี้ครับ
· ผู้ป่วยรีบด่วน(ผู้ป่วยฉุกเฉิน) อันนี้ออกแนวฟาสต์ฟูสด์ครับ ต้องการการรักษาทันทีรีบด่วน เช่น อุบัติเหตุ หมดสติไม่รู้สึกตัว หอบมาก เจ็บแน่นหน้าอก ปวดศีรษะจนเดินไม่ได้ แขนขาอ่อนแรง หรือถ้าพูดง่ายๆคือเป็นผู้ป่วยที่อาการแย่ ไม่น่าจะรอทนไหว หรือหากทนแล้วจะทำให้เกิดอันตราย ผู้ป่วยลักษณะนี้ต้องไปที่ห้องฉุกเฉิน (ER) ครับเพราะจะมีทีมแพทย์ที่พร้อมให้การรักษาแบบรีบด่วนได้ทันที แต่ก่อนที่จะเข้าไป ER นั้น อย่าเพิ่งงงนะครับถ้าก่อนเข้าจะมีคุณพยาบาลสวยๆมาทักว่า “คุณไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินนะคะรบกวนไปตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกค่ะ” เพราะคุณพยาบาลทั้งหลายเหล่านี้มีหน้าที่คัดกรองว่าผู้ป่วยท่านใดฉุกเฉินจริงหรือไม่ ในความคิดของผู้ป่วยทุกคนย่อมคิดว่าความเจ็บป่วยของตนเองนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนเป็นธรรมดา ซึ่งแพทย์ก็เข้าใจครับ แต่การรักษาผู้ป่วยนั้น ใช้หลักความเป็นจริงและอาการมาเป็นตัวตัดสินว่าเร่งด่วนหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยทุกคนบอกว่าอยากตรวจแบบเร่งด่วนทุกคน ทุกคนพากันไปที่ห้องฉุกเฉิน (ER)หมด ก็จะทำให้การรักษาโดยรวมของระบบช้าไปหมดครับ เพราะฉะนั้นในส่วนห้องฉุกเฉินนี้จึงเหมาะเฉพาะกับผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆเท่านั้นครับ
ผู้ป่วยไม่รีบด่วน (ผู้ป่วยนอก) ผู้ป่วยในลักษณะนี้เป็นผู้ป่วยที่สามารถรอได้ครับ เช่น ผู้ป่วยเด็กเป็นหวัด, มารับยารักษาความดันโลหิตสูงเดิมโดยที่ความดันวัดแล้วคุมความดันได้ดี (ถ้าคุมได้ไม่ดีความดันสูงมากจนอันตรายจะส่งไปที่ห้องฉุกเฉินครับ) ,ปวดข้อมือเล็กน้อย, ปวดเอว ,หกล้มมีแผลถลอกนิดหน่อย ,มาปรึกษาเรื่องการใช้ยาคุม, ฯลฯ ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ต้องการความเร่งด่วนในการรักษาครับ(อาจจะอยากตรวจให้ เสร็จเร็วๆจะได้ไปทำอย่างอื่น) แต่เมื่อประเมินแล้วการรอไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยก็ถือได้ว่าเป็น ผู้ป่วยไม่รีบด่วนครับ ผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะไปตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก(OPD) ครับ
เมื่อพอรู้แล้วว่าจะไปห้องฉุกเฉินหรือไปห้องตรวจผู้ป่วยนอก ในส่วนของห้องฉุกเฉินนั้นคุณหมอหลายๆหน่วยจะมาร่วมปรึกษาและรักษาคนไข้ด้วย ตามแต่ที่คุณหมอห้องฉุกเฉินจะเห็นสมควรอยู่แล้วครับ เช่นไส้ติ่งอักเสบปวดมาก ก็จะปรึกษาคุณหมอผ่าตัดให้ สงสัยภาวะหัวใจวายก็ปรึกษาคุณหมออายุรกรรมให้ เป็นต้น แต่สำหรับผู้ป่วยที่มาตรวจเองในส่วนของผู้ป่วยนอกนั้น ต้องไปที่ห้องตรวจนั้นๆเองครับดังนั้นต่อไปก็จะมาคุยเรื่องของลักษณะของการ ตรวจของแพทย์แต่ละหน่วยกันหน่อยครับว่าโรคแบบนี้จะไปหาหมอไหน จะได้ไม่เดินเวียนเทียนเล่นในโรงพยาบาลครับ
1. แพทย์ ห้องฉุกเฉิน ก็จะดูแลเบื้องต้นให้กับผู้ป่วยที่มาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน คุณหมอเหล่านี้จะดูแลเบื้องต้นพร้อมกับวินิจฉัยโรคให้ระดับหนึ่งก่อน หากทำการรักษาได้ก็จะทำการรักษาเลย แต่หากต้องพึ่งพาคุณหมอเฉพาะทางก็จะส่งไปปรึกษาตามสมควร ซึ่งคุณหมอในสาขาอื่นๆที่จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะมาที่ห้องฉุกเฉิน นี่แหละครับ มาช่วยปรึกษา ร่วมรักษาด้วยกัน
2. อายุรแพทย์ อันนี้เป็นคุณหมอที่มีโรคที่ครอบคลุมที่สุดครับ ทั้งตัวจริงๆ โรคที่คนไทยเป็นกันมากส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดนี้ และโรคส่วนใหญ่มักต้องรักษาด้วย ยาครับ อันได้แก่ โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบ(ที่ไม่ต้องผ่าตัด) ไวรัสตับอักเสบ โรคไขมันในเส้นเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือผู้ป่วยที่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นโรคอะไรหลายๆครั้งจะต้องให้คุณหมออายุร กรรมเป็นผู้ร่วมประเมินก่อน และในส่วนของอายุรแพทย์เองก็มีแยกย่อยออกไปอีกนะครับว่าเป็น อายุรแพทย์ระบบประสาท, หัวใจ, ปอด, ระบบทางเดินอาหารเป็นต้น จะเป็นเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญด้านนั้นๆมากยิ่งขึ้นไปอีก(ที่สุดแล้ว)
. ศัลยแพทย์ เป็นคุณหมอที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดครับการรักษาจะเน้นไปทางด้านการผ่าตัด (แต่รักษาด้วยยาก็มีนะครับ) บางโรคจะรักษาด้วยยาก่อน แต่มีโอกาสที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โรคเหล่านี้ก็จะให้คุณหมอศัลยแพทย์เป็นผู้ดูแลให้ โรคเหล่านี้ก็แช่น โรคที่เกี่ยวกับ “ก้อน” เป็นหลัก ก้อนที่เต้านม ก้อนที่ลำไส้ ก้อนที่ทวารหนัก ก้อนตามแขนขา เป็นต้น แต่ต้องเป็นก้อนที่ใช้การผ่าตัดนะครับ อย่างบางก้อน ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (ต่อมที่อยู่ตรงคอที่พอมันโตๆเราเรียกว่าคอหอยพอกนะครับ) การใช้ยาบางครั้งจะยุบเองได้ก็จะให้อายุรแพทย์รักษาให้ แต่ถ้าบางครั้งก้อนมันใหญ่มากเกิน ยารักษาไม่ได้ต้องผ่าตัด ก็จะเป็นคุณหมอศัลยแพทย์นี่แหละรักษาให้ นอกจากนี้โรคที่เกี่ยวกับการผ่าตัดอื่นๆเช่น ไส้แตก(อู้ยยยยน่ากลัว) กระเพาะทะลุ ไส้ติ่งอักเสบ (ซึ่งโดยส่วนใหญ่ โรคที่ต้องผ่าตัดฉุกเฉินเช่นนี้ศัลยแพทย์จะไปดูผู้ป่วยให้ที่ห้องฉุกเฉิน ครับไม่ต้องมาผู้ป่วยนอก)ริดสีดวง(ที่ต้องผ่า) ก็ต้องให้ศัลยแพทย์เป็นผู้ดูแล และเหมือนกับอายุรแพทย์ครับ ศัลยแพทย์เองก็มีสาขาแยกย่อยออกไปเช่น ศัลยแพทย์ทั่วไป, ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ, ตกแต่ง, กระดูก, และอีกมากมายเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนั้นๆมากยิ่งขึ้นไปอีกครับ
4. สูตินารีแพทย์ คุณสาวๆจงภูมิใจครับว่าคุณเป็นเพศที่โลกนี้ให้ความสำคัญมากโดยการผลิตแพทย์ขึ้นมาเพื่อพวกคุณโดยเฉพาะเลย 1 สาขา ถ้วนครับ ชื่อก็บอกครับเป็นแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยตั้งครรภ์ (ไม่ต้องเกานะ...อู้ยตลก) และโรคเกี่ยวกับสตรี ซึ่งก็คือโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะที่งอกมาเพิ่มเติมจากผู้ชาย “มดลูก” และ “รังไข่” ครับ (จริงๆผู้ชายก็มีอวัยวะที่งอกเกินออกมาที่ผู้หญิงไม่มีเหมือนกันแต่ก็ไม่ยัก กะมีบุรุษแพทย์ครับ ........เอาละข้ามไปเถอะ) โรคที่คุณจะไปตรวจก็เช่น เอ่อสมมติว่าตรงนั้นของสุภาพสตรีเป็น “ชิซุกะ” ละกันนะครับ ชิซุกะไม่สบายเช่น เลือดออก มีมูกขาวเขียวกลิ่นแรง ชิซุกะคันมาก ผื่นขึ้น มีก้อนที่มดลูกอะไรก็ตามแต่สามารถไปปรึกษาได้ หรือจะไปฝากครรภ์ก็ไปหาคุณหมอเหล่านี้ครับ
5. กุมารแพทย์ ตรวจเกือบทุกอย่างที่เกี่ยวกับเด็กครับ โดยส่วนใหญ่จะตัดที่ 15 ปีครับ บางโรงพยาบาล15 ปีขึ้นไปก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางโรงพยาบาลต้อง 16 ปีขึ้นไปก่อนแล้วแต่ครับ ซึ่งกุมารแพทย์เองก็มีสาขาแยกย่อยออกไปอีกเช่นกันครับ
6. แพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ ที่รวมมาส่วนนี้ไม่ได้ไม่เห็นความสำคัญนะครับ(โอ๋ๆๆๆ) แต่เพราะชื่อของท่านเหล่านี้รู้อยู่แล้วครับว่าตรวจอะไร เช่น จักษุแพทย์ คือ หมอตา, โสตศอนาสิก คือ หมอหูคอจมูก, จิตเวช คือ หมอที่ปรึกษาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต แพทย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ คือแพทย์ที่ตรวจเรื่องกระดูกและข้อ เป็นต้น
7. แพทย์ทั่วไป เป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่ท่านทั้งหลายคิดไม่ออกว่าจะไปที่ใดครับ เพราะหมอทั่วไปนี้จะตรวจได้ทุกโรค (อ้าวถ้างั้นก็เก่งสุดสิ) แต่รักษาได้บางโรคครับ (อ่ออออออ) บางโรคที่เกินกำลังก็จะส่งต่อไปยังคุณหมอเฉพาะทางอื่นๆ กรณีนี้ท่านอาจจะไปพบหมอทั่วไปก่อนก็ได้ แต่อาจจะต้องเสียเวลาไปหาหมอเฉพาะทางอีกรอบนึง ถ้าท่านรู้โรคอยู่แล้ว การไปหาหมอเฉพาะทางโดยตรงจะเร็วกว่าครับ
นอกจากนี้ยังมีแพทย์สาขาอื่นๆอีกมากมาย (จริงๆประมาณ 70-80 สาขา เลยละครับ) แต่แพทย์เหล่านี้บางครั้งไม่ได้มาตรวจคลินิกผู้ป่วยนอกเช่น แพทย์นิติเวช (บางโรงพยาบาลก็มีนะครับ แต่ไม่ได้มาชัณสูตรให้ดูนะ (บรึ๋ยยยยย แต่มาดูแลผู้ป่วยที่ต้องการปรึกษาด้านกฎหมายนะครับ) วิสัญญีแพทย์ (หมอวางยาสลบ) แพทย์พยาธิวิทยา(อ่านผลชิ้นเนื้อที่ตัดจากเราส่งไปตรวจก็ให้ผู้เชี่ยวชาญ เหล่านี้ละครับอ่านให้ว่าเป็นโรคอะไร) แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว,เวชศาสตร์ชุมชน(คอยดูแลโรงงานต่างๆหรือออกดูแลผู้ ป่วยตามบ้าน) เป็นต้น
ซึ่งในแต่ละโรงพยาบาลก็จะมีแพทย์ และแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆที่แตกต่างกัน บางโรงพยาบาลมีจักษุแพทย์ บางโรงพยาบาลไม่มี บางโรงพยาบาลมีศัลยแพทย์ บางโรงพยาบาลไม่มี ซึ่งส่วนใหญ่ในทุกโรงพยาบาลแพทย์ที่น่าจะมีแน่ๆก็จะมีแพทย์ทั่วไปนี่ละครับ ดังนั้นผู้ป่วยก็จะได้รับการตรวจจากแพทย์ทั่วไปก่อน แต่ไม่ต้องห่วงครับ ว่าไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางจะรักษาได้ดีเหรอ? เพราะบางโรคแพทย์ทั่วไปก็รักษาได้ดีเทียบเท่ากับแพทย์เฉพาะทาง และบางโรคก็ไม่จำเป็นต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทางเสมอไป แต่ถ้าหากแพทย์ทั่วไปท่านนั้นเห็นว่าเกินกำลัง ไม่สามารถรักษาได้ ก็จะส่งต่อผู้ป่วยให้กับแพทย์เฉพาะทางต่อไปครับ
ไปๆมาๆก็สาธยายกันยาววววววววววววววววววววว เกินไปจนได้ ไว้ครั้งหน้าเราจะเข้าหาคุณหมอกันแล้วครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น