มาเริ่มบทความบทแรกกันเลยนะครับ เนื่องจาก Blog นี้เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน และอย่างที่บอกครับ Blog นี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้บางอย่างที่คนไข้(หรือไม่ไข้)ไม่รู้ แต่ถ้ารู้จะช่วยให้คนไข้สุขภาพดี(ตามประสาคนรักสุขภาพเนาะ) หมอรักษาได้ง่ายขึ้น คนไข้รับรู้เรื่องโรคมากขึ้น หมอเข้าใจคนไข้ คนไข้เข้าใจหมอ ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของการรักษาดำเนินไปอย่างดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในบทแรกนี้ เราจะไม่เริ่มจากโรคนะครับ แต่เราไปออกสตาร์ทกันตั้งแต่ เริ่มเข้าโรงพยาบาลกันก่อนดีกว่า
ข้อ สงสัยหนึ่งที่คนไข้ที่มาโรงพยาบาลมักจะถามเสมอๆ(แต่หมอมักจะไม่ได้เป็นคนตอบ นะครับ) คือทำอะไรยังไงบ้าง (ก็ไม่เคยมาโรงพยาบาลนะสิ) จะถามใครเจ้าหน้าที่คนไหนเป็นใคร ไปที่ห้องไหน อยู่ตึกอะไร ต้องทำยังไง เอาใบนี้ไปยื่นตรงไหน ถามไปถามมาก็งงๆ บางคนตอบรู้บางคนตอบไม่รู้ แล้วจะทำยังไงเนี่ย จะได้เจอหมอไหมคะคุณวันนี้เนี่ย งั้นเรามาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับคำถามต่างๆในโรงพยาบาลที่มักถามกันบ่อยๆนะ ครับ
ก่อนไปต้องเตรียมอะไรไปบ้าง?
หา!!!!!!!!!!! ……………(ตกใจสุดขีด) อะไรจะเว่อร์ (OVER) ปานนั้น จะไปโรงพยาบาลนะคะต้องเตรียมอะไรด้วยคะคู้ณณณณณ (เพี้ยนเพื่อเสียง) คำตอบคือต้องเตรียมครับ
- เตรียมผู้รู้ ผู้รู้ในที่นี้คือผู้รู้เรื่องคนไข้ครับ รู้ว่าชื่ออะไรอายุเท่าไร โรคประจำตัวมีอะไรบ้าง แพ้ยาอะไร เคยผ่าตัดหรือไม่ และอาการที่มาโรงพยาบาลมาด้วยอาการผิดปกติอย่างไร ถ้ารู้ถึงขนาดเคยเป็นอะไรมาบ้าง รักษาที่ใด ตำหนิใฝสิว ขนาดริดสีดวง รอบเอว จำนวนเส้นผมอันนี้จะดีมาก (อันหลังๆนี่ล้อเล่นนะครับ) เพราะคำถามเหล่านี้คุณหมอทั้งหลายต้องถามแน่นอน และถ้าได้ข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ (จากผู้ที่ใกล้ชิดคนไข้) จะทำให้การรักษาดำเนินไปอย่างราบรื่นสุดๆเลยละครับ
- เตรียมยา หลายท่านคง งงงงงง ...........อ้าวไปโรงพยาบาลค่ะ จะไปเอายาค่ะ ทำไมให้เตรียมยาอะไรจ้ะ ยาคูลล์เปล่า? คำตอบคือ ยาของคนไข้นั่นแหละครับ ยาที่กินเป็นประจำ เพราะในบางครั้ง ตัวยาพวกนี้นี่แหละที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติกับคนไข้ บางครั้งถ้าไม่ได้นำยาไปแต่บอกแค่ว่า “คนไข้เป็นความดันค่ะ” “คนไข้กินยาเบาหวานอยู่ครับหมอ” แต่ไม่ได้นำยามา ขนาดยาที่กินก็ไม่ทราบอย่างนี้หมอจะเดาลำบากครับ เพราะยาในโลกนี้มีหลายแบบมาก ยาลดความดันก็มีหลายชนิด ยาแต่ละชนิดก็มีหลายตัวยาเป็นองค์ประกอบและหลายบริษัทยาผลิต แต่ละโรงพยาบาลก็ใช้ยาไม่เหมือนกันบางอย่างยาตัวเดียวกันแต่คนละบริษัทผลิต ก็คนละสีคนละแบบแล้วครับ หลายท่านอาจสงสัยว่าเป็นหมอไม่รู้เหรอเดาไม่ได้เหรอ ผมยกตัวอย่างอย่างนี้แล้วกัน (ยาแทนด้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปละกันนะครับ)
ลูก : “คุณแม่กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกวันครับ”
หมอ : “ยี่ห้ออะไรครับ”
ลูก : “ชื่อยา(บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป)นั้นผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน”
หมอ : “……..ไม่เป็นไรครับนำมาด้วยหรือเปล่า”
ลูก : “ไม่ได้นำมาครับแต่อย่างนี้ครับ ผมจำได้ว่าซองมันสีแดงๆนะครับ มีสี
เขียวปนด้วย ซองไม่ใหญ่มากคุณหมอพอจะเดาได้มั้งครับ”
หมอ : ?_? (มาม่าต้มยำ? มาม่าชาเขียว? ไวไวหมูสับ? ฯลฯ?)
คำตอบคือเดาไม่ได้หรอกครับ เพราะการรักษาหมอเองก็อยากได้ข้อมูลที่เป็นความจริงมากที่สุด เพราะโอกาสเดาผิดก็มี ฉะนั้นการนำยาไปด้วยดีที่สุดครับ
- เครื่องแต่งกาย อันนี้ไม่ได้หมายถึงนะครับว่าต้องใส่ชุดสุภาพมากไปพบคุณหมอ คุณสภาพสตรีก็จัดเต็มอัตราศึกตามแฟชั่น ต้องใส่ ชุดราตรียาว รองเท้าหุ้มข้อ เพชรเต็มคอ ฯลฯ (แต่นุ่งผ้าเช็ดตัวกับเสื้อกล้ามนี่ก็ไม่ไหว) อันนั้นแล้วแต่ท่านครับ แต่ว่าคำว่าการแต่งกายของผมหมายถึงควรแต่งให้เหมาะกับอาการผิดปกติที่คุณ ต้องการจะไปตรวจ เช่นคุณสุภาพสตรีบอกว่าปวดบริเวณน่อง,มีแผลบริเวณขา ก็ไม่ควรใส่กระโปรงสั้น เพราะเวลาตรวจยกแข้งยกขาจะลำบาก(แนะนำเป็นกางเกงขาสั้นก็ดีครับ) แพทย์ตรวจทีหัวใจจะวาย คุณสุภาพบุรุษบอกปวดต้นขาแต่ใส่ยีนขาเดฟสะดุ้งมาเลยก็ไม่ไหวครับ เลิกขากางเกงขึ้นไม่ได้ติดความเปรี๊ยะ หรือบอกว่าแน่นหน้าอกหายใจไม่อิ่มแต่ใส่ซะชุดหนังรัดรูปเนื้อผ้าหนาเตอะมา ก็ตรวจฟังปอดฟังหัวใจลำบากครับ จะตรวจก็ต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายด้วยทำให้ยุ่งยากมากขึ้น
- เตรียมนอนโรงพยาบาล อันนี้หลายท่านคงงงว่าเป็นการเตรียมที่ลำบากนะคะคุณหมอ จะนอนโรงพยาบาลหรือไม่คงไม่มีใครคาดเดาได้(นอกจากหมอ) ในความหมายของผมคงเหมือนกับให้เตรียมใจไว้บ้าง เพราะบางครั้งที่ไปโรงพยาบาล อาการเหมือนกับจะไม่เป็นอะไรมากแต่เมื่อตรวจแล้วอาจจะต้องนอนโรงพยาบาลเลย เช่นมีไข้นิดหน่อย ปรากฏตรวจออกมาเป็นไข้เลือดออกก็ต้องนอนโรงพยาบาลเลย เป็นต้น ไม่ต้องถึงขนาดเตรียมเสื้อผ้าพร้อมไปนอนทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาลนะครับแค่ เตรียมใจบ้างนิดหน่อยก็พอ เพราะถ้าต้องนอนจริงๆก็ค่อยกลับมานำเครื่องใช้ส่วนตัวไปก็ได้ เสื้อผ้าก็เป็นเสื้อผ้าโรงพยาบาลอยู่แล้ว
- เตรียมประวัติการรักษา อันนี้ใช้ในกรณีที่คุณจะต้องย้ายไปรักษาในโรงพยาบาลอื่นในโรคประจำตัวเดิมของคุณครับเช่น เคยปวดท้องและผ่าตัดตับไปเมื่อ 2 ปี ก่อน มาด้วยเรื่องปวดท้องที่เดิมอีกคุณหมออาจจะสงสัยว่าการผ่าครั้งนั้นทำอะไรไป บ้าง หรือเคยรักษาเรื่องเนื้องอกในมดลูกมาตลอดที่เชียงใหม่ แต่เผอิญย้ายบ้านไปกทม.จะต้องย้ายไปรักษาและตรวจติดตามต่อก็ต้องนำ ประวัติการรักษาที่เชียงใหม่ไปด้วย ในส่วนนี้คุณสามารถไปขอข้อมูลการรักษาการรักษาทั้งหมดได้ที่โรงพยาบาลที่ทำ การรักษาคุณเลยครับ (คนไข้มีสิทธิตามกฎหมายครับ) หรือกรณีที่เป็นคนไข้เด็ก ประวัติการคลอด การฝากครรภ์ หรือที่เค้าเรียกกันว่าสมุดเด็กดีสีชมพูนั่นแหละครับจะช่วยได้มาก รวมถึงคนไข้ที่ตั้งครรภ์ด้วยนะครับไปหาหมอทุกครั้งไม่ว่าจะป่วยเรื่องอะไร เกี่ยวกับการตั้งครรภ์หรือไม่ ก็ควรนำสมุดฝากครรภ์ไปด้วยทุกครั้งครับ และโดยเฉพาะโรคที่ต้องรับยาเป็นประจำเช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน ถ้าได้ประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิมไปด้วยจะยอดเยี่ยมมากเลยครับ
ไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ ว่าแค่การไปโรงพยาบาลเท่านี้ก็ต้องมีการเตรียมพร้อม(บ้าง) เพราะการรักษาคนไข้นั้นไม่ใช่เพียงหมอคนเดียว ญาติๆ คนดูแล รวมถึงตัวคนไข้เองก็มีส่วนช่วยเช่นกัน แต่อย่างที่บอกครับว่าทั้งหมดทั้งปวงนี้ ถ้านึกอะไรไม่ออกเลยก็ไม่เป็นไรครับ เหนือสิ่งอื่นใดคือการนำคนไข้โดยเฉพาะคนไข้ฉุกเฉินไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่ สุดก่อน ในส่วนหลังๆนี่ค่อยกลับมาเอาทีหลังก็ได้ ซึ่งคุณหมอก็จะบอกให้คุณนำกลับไปให้ที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่ถ้าเป็นคนไข้แบบที่ไม่ได้มีอาการฉุกเฉินต้องรีบไปใน 1-2 นาทีนี้การเตรียมไปด้วยก็จะทำให้การรักษาสะดวกและรวดเร็วแม่นยำขึ้นครับ
เดี๋ยวคราวหน้ามาต่อเรื่องเมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้วกันครับ
เวลาไปหาจริง หมอไม่ถามอะไรเลย บอกอะไรหมอยังไม่ฟังเลย...กดๆจับๆแล้วบอกออกไปรอข้างนอกได้ค่ะ เราก็ อ้าวหมอจะไม่บอกหน่อยหรอว่าเราเป็นโรคอะไร ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ... งงกับหมอสมัยนี้
ตอบลบ