คำแนะนำทำใจก่อนอ่านบล็อก

1. บล็อกนี้เป็นบล็อกเพื่อสุขภาพและความบันเทิง
2.ข้อมูลในบล็อกนี้ไม่ควรนำไปอ้างอิง แต่ถ้าจะส่งต่อเพื่อความรู้และความเข้าใจ เชิญเลยจ้ะ
3.โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบล็อก
4.หากจะรักษาโรคใดๆ หรือต้องการข้อมูลสุขภาพสำหรับแต่ละบุคคล ปรึกษาแพทย์โดยตรงเลยดีกว่าจ้ะ

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

บทที่ 1 : เมื่อฉันไปพบแพทย์ (ภาคสาม)

มื่อฉันไปพบแพทย์ (ภาคสาม)




               จะเข้าสู่มหากาพย์ไตรภาคอยู่แล้วนะครับ อย่าเพิ่งเบื่อก่อนละ ที่เผยแพร่เนี่ยเพราะรักนะ จุ๊บๆ (ผมรู้นะคุณรู้สึกเหวอละสิ)
            
                เมื่อเราเลือกแล้วว่าจะไปตรวจกับหมอด้านใด ไปยังไง เตรียมอะไรไปก็ตามแต่ คราวนี้ก็เข้าพบคุณหมอกันละครับ
 
การตรวจ
                           ในส่วนนี้คุณหมอก็จะถามไปตามปกติละครับ ชื่อ อายุ อาการ ข้อมูลที่คุณผู้ป่วยเองหรือญาติที่เตรียมมาก็บอกไปได้เลยครับ แต่มักจะมีคำถามจากผู้ป่วยหลายครั้งว่าทำไมหมอชอบถามนู่นถามนี่อยู่ได้ ไม่ตรวจซะที อาจจะต้องชี้แจงให้ทราบนิดนึงเพื่อไขกระจ่างครับว่า จริงๆแล้วประวัติการเจ็บป่วย สำคัญมากๆ ในการช่วยวินิจฉัยครับ คุณหมอบางคนอาจวินิจฉัยผู้ป่วยได้จากการเพียงแค่ฟังประวัติแถมยังคาดการ อาการล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องอีกด้วย เพราะฉะนั้นอย่ารำคาญเลยครับ การที่คุณหมอถามประวัตินั้นก็คือการช่วยตรวจวินิจฉัยอย่างหนึ่งเหมือนกัน 
                    
                      ต่อมาเมื่อฟังประวัติแล้วก็จะมาถึงตรวจร่างกายครับ การตรวจร่างกายก็จะตรวจตามอาการที่ได้ฟังมาจากประวัตินั่นละครับ เพื่อช่วยย้ำว่าการวินิจฉัยโรคนั้นถูกต้อง อยากฝากถึงคุณสุภาพสตรีที่ไปตรวจกับคุณหมอผู้ชายนะครับว่าไม่ต้องเป็นห่วง ในเรื่องการตรวจภายในหรือตรวจเต้านมเพราะในห้องตรวจนั้น จะต้องมีพยาบาลซึ่งเป็นผู้หญิงอยู่ด้วยอีก  1 คน ไว้ อยู่เป็นเพื่อนและช่วยเหลือผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าและจัดท่าการตรวจด้วยครับ 

                 หลังจากการตรวจเสร็จสิ้นก็ขึ้นอยู่กับว่า หมอวินิจฉัยได้เลย หรือต้อง ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อะไรอีกหรือเปล่า เพราะบางครั้งก็ต้องใช้ผลเหล่านี้ในการช่วยวินิจฉัยด้วย ซึ่งเมื่อต้องไปเจาะเลือดคุณหมออาจจะให้ผู้ป่วยนำเอกสารหรือพวกใบเจาะเลือด ต่างๆติดตัวไปด้วยครับ

การตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ หรือการส่งตรวจพิเศษอื่นๆ
                 ใน ส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร ต้องเจาะตรวจอะไรบ้างประมาณนี้ครับ คุณหมอจะเป็นผู้พิจารณาเองว่าส่งตรวจอะไรบ้าง มีข้อสังเกตบางอย่างอยากฝากไว้ครับ
·       
                   ผลตรวจนั้นบางครั้งได้ช้าไม่ทันใจหลายท่าน (โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ) เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมาก และผู้ป่วยบางรายต้องการผลฉุกเฉินไม่เช่นนั้นอาจจะเสียชีวิต เช่น เอกซเรย์ด่วน ผลเลือดด่วน ทางห้องตรวจก็จะ เอกซเรย์หรือตรวจเลือดผู้ป่วยเหล่านั้นก่อน ดังนั้นผลอาจจะช้าไปบ้างนะครับ แต่ขอให้มั่นใจครับว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้อู้แน่นอน
·      
          การตรวจบอกได้เฉพาะอย่าง ยังมีผู้ป่วยหลายท่านเข้าใจว่าการตรวจเลือดบอกได้ทุกอย่าง เมื่อคุณหมอบอกว่าผลเลือดปกติแปลว่าสบายดีแล้ว ไม่เป็นโรคอะไรแล้ว ไม่ใช่แบบนั้นนะครับ เพราะการตรวจเลือดนั้นมักจะตรวจตามอาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ไม่ได้บอกทุกอย่างที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ผมยกตัวอย่างอย่างนี้แล้วกันครับ
ผู้ป่วยสมมุติว่าชื่อ นายตุ่มเปรี๊ยะแล้วกัน (เอ่อออ.......)
นายตุ่มเปรี๊ยะมาตรวจเบาหวาน เมื่อหมอเจาะเลือดดูบอกว่าผลเลือดปกติ แปลว่านายตุ่มเปรี๊ยะ ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานนะครับไม่ใช่นายตุ่มเปรี๊ยะปกติดีไปหมด นายตุ่มเปรี๊ยะอาจจะเป็นโรคไขมันในเส้นเลือดสูงก็ได้ เป็นต้น
·      การตรวจบางอย่างเหมาะกับบางโรค เช่นเป็นโรคปอดบวม ก็ควรจะ เอกซเรย์ปอดไม่ใช่ตรวจปัสสาวะ หรือเป็นโรคถุงลมโป่งพอง โดยทั่วไปการเจาะเลือดก็ไม่ได้ช่วยวินิจฉัย สรุปคือคุณหมอจะพิจารณาส่งตรวจตามความเหมาะสมครับ
·     
         การตรวจต้องมีประวัติและอาการประกอบ เช่นผู้ป่วยท่านหนึ่งเดินเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายประจำปี และต้องการตรวจเลือดหาโรคมะเร็งทั้งหมดว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ มาขอเจาะเลือดเพื่อตรวจหามะเร็ง โดยไม่มีอาการอะไร(สบายดี) การตรวจแบบนี้กว้างมากครับ เพราะถ้าไม่มีอาการที่จำเพาะก็ไม่รู้ว่ามะเร็งนั้นมาจากไหน (เช่นถ้าเป็นมะเร็งลำไส้ก็อาจจะมีปวดท้อง อ่อนเพลีย น้ำหนักลดชัดเจน ไม่ถ่ายเป็นสัปดาห์ เป็นต้น) 

                           ถ้าผู้ป่วยอาการปกติดีมาขอเจาะเลือดเพื่อหาว่าเป็นมะเร็งจริงหรือไม่  จะส่งเจาะเลือดดูค่ามะเร็งอะไรก็ไม่รู้ได้ครับ (เพราะไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง) ถ้าจะส่งตรวจเลือดทั้งหมดที่เกี่ยวกับมะเร็งทั้งตัวมันก็จะกว้างมากๆๆ เกินไปอีกครับ และถึงแม้ค่าจะผิดปกติก็คงไม่สามารถบอกได้อยู่ดีว่ามาจากไหน (แต่ไม่ต้องห่วงครับหากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง อายุเข้าได้ โอกาสเป็นโรคมะเร็งสูง แพทย์ก็จะพิจารณาตรวจเป็นรายๆไปครับ)
·     
           การตรวจเอกซเรย์มีหลายแบบมากครับ ผู้ป่วยหลายท่านจะเข้าใจว่าการตรวจเอกซเรย์นั้นจะทำให้เห็นทุกอย่างจะบอกได้ทุกอย่าง จริงๆแล้วไม่ใช่ครับ การตรวจเอกซเรย์จะมีหลายแบบ บางอย่างเห็นกระดูก บางอย่างเห็นเนื้อเยื่อชัดเจน บางอย่างเห็นคร่าวๆ บางอย่างเห็นละเอียด แตกต่างกันไปเช่น โรคไส้ติ่งอักเสบนั้น การที่เราไป เอกซเรย์ท้องนั้น ไม่ช่วยในการวินิจฉัยครับ เพราะไม่เห็นไส้ติ่ง อาจจะใช้อัลตราซาวน์ช่วยได้บ้าง (แต่จริงๆแล้วการวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบ ใช้ประวัติและการตรวจร่างกายครับ) ซึ่งเมื่อจะตรวจคุณหมอจะอธิบายอีกครั้งครับ ซึ่งในบางครั้งการ ตรวจ เอกซเรย์บางอย่างอาจต้องมีการเอกซเรย์พิเศษอื่นเพิ่มเติม(หลังจากทำเอกซเรย์ เบื้องต้นไปก่อนแล้ว) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยครับ
·       
                 การตรวจบางอย่างผลออกทันที บางอย่างต้องรอครับ บางค่า 1 ชั่วโมงก็ได้ผลแล้ว แต่บางอย่างต้องรอ 3 วันเป็นต้น อาจต้องใช้เวลาเป็นวันไปจนถึงเดือน ขึ้นอยู่กับความยากของการทำด้วยครับ
·      
            การ ตรวจบางอย่างต้องมีการนัดมาทำ คือต้องมีการเตรียมผู้ป่วยก่อนจะทำครับ เช่น ส่องกล้องทางเดินอาหาร  ในตอนเย็นวันก่อนที่จะทำก็อาจจะมีการสวนล้างลำไส้ก่อน หรือพรุ่งนี้เช้าจะเจาะเลือดดูเบาหวาน อาจต้องมีการงดกินข้าวงดกินน้ำตอนหลังเที่ยงคืนในคืนก่อนวันที่จะไปเจาะเลือดตรวจ เป็นต้น
·     
            ผล การตรวจมีโอกาสผิดพลาดได้ ในข้อนี้นั้นเกิดขึ้นได้ครับแต่น้อยยยยยยยยยยยมาก (น้อยจริงๆนะ) อาจจะเกิดจากเครื่องที่ใช้ตรวจ เลือดที่เจาะไปนานเกินไปเก็บปัสสาวะไม่ถูกวิธี ฯลฯ แต่ยืนยันว่าน้อยยยยยยยยยยยยยยมากครับเพราะจะมีการตรวจทานซ้ำหลายรอบก่อน รายงาน และคุณหมอจะนำข้อมูลผลเลือดมาประกอบกับการซักประวัติตรวจร่างกายข้างต้นก่อน การวินิจฉัย ถ้าผลเลือดผิดแปลกประหลาดมาก คุณหมออาจจะขออนุญาตผู้ป่วยตรวจซ้ำครับ

การวินิจฉัย
                     มาถึงส่วนสำคัญที่สุดละครับที่คุณๆคนไข้ทั้งหลายมาโรงพยาบาลก็เพื่อจะรู้ว่า เป็นโรคอะไร แพทย์จะใช้ประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดทั้งหลายทั้งปวงนี่ละครับมารวมๆกันเพื่อบอกว่าคุณๆเป็นโรคอะไรกัน ในส่วนนี้แพทย์จะวินิจฉัยแล้วให้การรักษา อาจจะนัดมาตรวจติดตาม หรือไม่นัดก็แล้วแต่โรคที่ต่างๆกันไปครับ หรืออาจจะต้องมีการส่งต่อเพื่อให้แพทย์ท่านอื่นๆที่เชี่ยวชาญกว่ามาร่วมใน การวินิจฉัย ร่วมรักษาด้วยก็เป็นได้ครับ ซึ่งในช่วงนี้เองครับที่ผู้ป่วยควรจะถามแพทย์ให้เข้าใจเลยครับว่า หนูเป็นโรคอะไรคะ ผมต้องทำตัวยังไง คุณหมอจะนัดอีกทีเมื่อไร เป็นต้น

ใบรับรองแพทย์
                  เป็นอีกเรื่องนึงที่มีการเข้าใจผิดอย่างมากครับนั่นคือการออกใบรับรองเพศ เอ้ย แพทย์(แหะๆ) ใบรับรองแพทย์เป็นใบที่ใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายหลายอย่างครับทั้งการเบิกการรักษา การลาหยุดงาน การใช้ในการประกัน เป็นต้น ซึ่งการที่แพทย์จะให้หยุดงานได้นั้นกี่วัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยหรือคนไข้ท่านนั้นๆเจ็บป่วยเป็นอะไรมานะครับ ออกตามอาการ ไม่ได้ออกตามที่ผู้ป่วยร้องขอ (อันนี้เข้าใจผิดหลายคนเลย) และที่สำคัญออกย้อนหลังไม่ได้ครับหากไม่มีประวัติการรักษามาก่อน เช่น นายตุ้มเปรี๊ยะ (คนเดิม) ตกบันไดขาแพลงมาโรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้ออักเสบเล็กน้อย แพทย์อาจจะให้หยุดงานได้ 1-2 วันหรือ 1 สัปดาห์(หากนายตุ้มเปรี๊ยะทำงานประเภทที่ต้องใช้เท้ามากเช่นขับรถ ยืนส่งของเป็นต้น) แต่หากนายตุ้มเปรี๊ยะลาหยุดเอง 1 เดือน แล้วค่อยมาขอใบรับรองแพทย์ย้อนหลัง หากไม่มีประวัติการรักษาโรคนั้นๆมาก่อนแพทย์ก็ไม่อาจออกให้ได้ครับ  

                     เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุด หากจะออกจากโรงพยาบาลแล้วขอใบรับรองแพทย์ควรขอ ณ ขณะที่แพทย์ท่านนั้นๆกำลังตรวจอยู่จะดีที่สุดครับ

                 บรรยายมายาวววววววววววววววววววววววววววววววมากเป็นมหากาพย์ 3 ภาค นี่ก็อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ ว่านี่ละครับการเตรียมตัวไปหาหมอที่ถูกต้อง และจะทำให้การไปหาหมอของคุณๆง่ายขึ้นมาก ทั้งในด้านการตรวจ การวินิจฉัย รวมไปถึงการรักษา หวังว่าในบทแรกนี้คงจะให้ความรู้และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความเข้าใจในการไปรักษาที่โรงพยาบาลต่างๆมากขึ้นนะครับ แต่อย่างที่บอกครับว่าหากจำอะไรไม่ได้เลย ก็ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรละครับ พาผู้ป่วยไปให้ถึงโรงพยาบาลก่อน รายละเอียดปลีกย่อยค่อยมาซอยกันทีหลังยังไม่เสียหายครับ

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

บทที่ 1 : เมื่อฉันไปพบแพทย์ (ภาคสอง)

มื่อฉันไปพบแพทย์ (ภาคสอง) 

                มาถึงภาคต่อของมหากาพย์การไปพบแพทย์กันครับ (ว่าเข้านั่น) หลังจากที่เตรียมตัวและรับทราบอาการที่จะไปโรงพยาบาลกันแล้วเราก็จะออกจาก บ้านกันครับ ทีนี้เราจะมาดูกันครับว่าจะไปโรงพยาบาลยังไง (อะแน่!!!!!!!!!งงละสิ ไปได้หลายทางครับ)
·     
         รถส่วนบุคคล อันนี้ไปได้ตามแต่สะดวกครับ เลือกยี่ห้อได้ตามใจ(และเงิน)ของท่านเลย อยากไปรถเบนซ์ BMW หรือจักรยานก็แล้วแต่(อันหลังนี่เหนื่อยหน่อย)
·        รถโรงพยาบาล ในกรณีนี้แล้วแต่สถานพยาบาลครับถ้าเป็นโรงพยาบาลชุมชนบางครั้งเป็นหวัดนิดหน่อยก็เรียกรถโรงพยาบาลได้(ไม่เสียตังค์)แต่ก็ต้องแล้วแต่โรงพยาบาลนั้นๆด้วยนะครับ  หรือโรงพยาบาลเอกชนก็เรียกได้(เสียตังค์หรือไม่แล้วแต่สถานพยาบาลนั้นๆครับ)
แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐที่เป็นศูนย์ใหญ่ๆอาจจะใช้เฉพาะในกรณีที่ฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น เช่น คนไข้ชัก หอบ ตกบันไดหมดสติ อุบัติเหตุ (ตกบันไดเลื่อนเจ็บนิ้วเท้าเล็กน้อยคงไม่ไปรับครับ)  สำหรับหมายเลขโทรศัพท์สามารถสอบถามที่โรงพยาบาลนั้นๆเลยนะครับ หรือจะมีหมายเลขด่วนในแต่ละท้องที่ เช่น1669 เป็นต้นครับ
            
            เมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็ต้องดูก่อนนะครับว่าจริงๆแล้วเราจะมาตรวจอะไรคนไข้โดยส่วนใหญ่จะแบ่งง่ายๆดังนี้ครับ

·      ผู้ป่วยรีบด่วน(ผู้ป่วยฉุกเฉิน) อันนี้ออกแนวฟาสต์ฟูสด์ครับ ต้องการการรักษาทันทีรีบด่วน เช่น อุบัติเหตุ หมดสติไม่รู้สึกตัว หอบมาก เจ็บแน่นหน้าอก ปวดศีรษะจนเดินไม่ได้ แขนขาอ่อนแรง หรือถ้าพูดง่ายๆคือเป็นผู้ป่วยที่อาการแย่ ไม่น่าจะรอทนไหว หรือหากทนแล้วจะทำให้เกิดอันตราย ผู้ป่วยลักษณะนี้ต้องไปที่ห้องฉุกเฉิน (ER) ครับเพราะจะมีทีมแพทย์ที่พร้อมให้การรักษาแบบรีบด่วนได้ทันที แต่ก่อนที่จะเข้าไป ER นั้น อย่าเพิ่งงงนะครับถ้าก่อนเข้าจะมีคุณพยาบาลสวยๆมาทักว่า คุณไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินนะคะรบกวนไปตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกค่ะ เพราะคุณพยาบาลทั้งหลายเหล่านี้มีหน้าที่คัดกรองว่าผู้ป่วยท่านใดฉุกเฉินจริงหรือไม่ ในความคิดของผู้ป่วยทุกคนย่อมคิดว่าความเจ็บป่วยของตนเองนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนเป็นธรรมดา ซึ่งแพทย์ก็เข้าใจครับ แต่การรักษาผู้ป่วยนั้น ใช้หลักความเป็นจริงและอาการมาเป็นตัวตัดสินว่าเร่งด่วนหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยทุกคนบอกว่าอยากตรวจแบบเร่งด่วนทุกคน ทุกคนพากันไปที่ห้องฉุกเฉิน (ER)หมด ก็จะทำให้การรักษาโดยรวมของระบบช้าไปหมดครับ เพราะฉะนั้นในส่วนห้องฉุกเฉินนี้จึงเหมาะเฉพาะกับผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆเท่านั้นครับ 
 
            ผู้ป่วยไม่รีบด่วน (ผู้ป่วยนอก) ผู้ป่วยในลักษณะนี้เป็นผู้ป่วยที่สามารถรอได้ครับ เช่น ผู้ป่วยเด็กเป็นหวัด, มารับยารักษาความดันโลหิตสูงเดิมโดยที่ความดันวัดแล้วคุมความดันได้ดี (ถ้าคุมได้ไม่ดีความดันสูงมากจนอันตรายจะส่งไปที่ห้องฉุกเฉินครับ) ,ปวดข้อมือเล็กน้อย, ปวดเอว ,หกล้มมีแผลถลอกนิดหน่อย ,มาปรึกษาเรื่องการใช้ยาคุม, ฯลฯ ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ต้องการความเร่งด่วนในการรักษาครับ(อาจจะอยากตรวจให้ เสร็จเร็วๆจะได้ไปทำอย่างอื่น) แต่เมื่อประเมินแล้วการรอไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยก็ถือได้ว่าเป็น ผู้ป่วยไม่รีบด่วนครับ ผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะไปตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก(OPD) ครับ

                 เมื่อพอรู้แล้วว่าจะไปห้องฉุกเฉินหรือไปห้องตรวจผู้ป่วยนอก ในส่วนของห้องฉุกเฉินนั้นคุณหมอหลายๆหน่วยจะมาร่วมปรึกษาและรักษาคนไข้ด้วย ตามแต่ที่คุณหมอห้องฉุกเฉินจะเห็นสมควรอยู่แล้วครับ เช่นไส้ติ่งอักเสบปวดมาก ก็จะปรึกษาคุณหมอผ่าตัดให้ สงสัยภาวะหัวใจวายก็ปรึกษาคุณหมออายุรกรรมให้ เป็นต้น แต่สำหรับผู้ป่วยที่มาตรวจเองในส่วนของผู้ป่วยนอกนั้น ต้องไปที่ห้องตรวจนั้นๆเองครับดังนั้นต่อไปก็จะมาคุยเรื่องของลักษณะของการ ตรวจของแพทย์แต่ละหน่วยกันหน่อยครับว่าโรคแบบนี้จะไปหาหมอไหน จะได้ไม่เดินเวียนเทียนเล่นในโรงพยาบาลครับ
1.           แพทย์ ห้องฉุกเฉิน ก็จะดูแลเบื้องต้นให้กับผู้ป่วยที่มาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน คุณหมอเหล่านี้จะดูแลเบื้องต้นพร้อมกับวินิจฉัยโรคให้ระดับหนึ่งก่อน หากทำการรักษาได้ก็จะทำการรักษาเลย แต่หากต้องพึ่งพาคุณหมอเฉพาะทางก็จะส่งไปปรึกษาตามสมควร ซึ่งคุณหมอในสาขาอื่นๆที่จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะมาที่ห้องฉุกเฉิน นี่แหละครับ มาช่วยปรึกษา ร่วมรักษาด้วยกัน
2.           อายุรแพทย์ อันนี้เป็นคุณหมอที่มีโรคที่ครอบคลุมที่สุดครับ ทั้งตัวจริงๆ โรคที่คนไทยเป็นกันมากส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดนี้ และโรคส่วนใหญ่มักต้องรักษาด้วย ยาครับ อันได้แก่ โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบ(ที่ไม่ต้องผ่าตัด) ไวรัสตับอักเสบ โรคไขมันในเส้นเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือผู้ป่วยที่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นโรคอะไรหลายๆครั้งจะต้องให้คุณหมออายุร กรรมเป็นผู้ร่วมประเมินก่อน และในส่วนของอายุรแพทย์เองก็มีแยกย่อยออกไปอีกนะครับว่าเป็น อายุรแพทย์ระบบประสาท, หัวใจ, ปอด, ระบบทางเดินอาหารเป็นต้น จะเป็นเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญด้านนั้นๆมากยิ่งขึ้นไปอีก(ที่สุดแล้ว)
.           ศัลยแพทย์ เป็นคุณหมอที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดครับการรักษาจะเน้นไปทางด้านการผ่าตัด (แต่รักษาด้วยยาก็มีนะครับ) บางโรคจะรักษาด้วยยาก่อน แต่มีโอกาสที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โรคเหล่านี้ก็จะให้คุณหมอศัลยแพทย์เป็นผู้ดูแลให้ โรคเหล่านี้ก็แช่น โรคที่เกี่ยวกับก้อน เป็นหลัก ก้อนที่เต้านม ก้อนที่ลำไส้ ก้อนที่ทวารหนัก ก้อนตามแขนขา เป็นต้น แต่ต้องเป็นก้อนที่ใช้การผ่าตัดนะครับ อย่างบางก้อน ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (ต่อมที่อยู่ตรงคอที่พอมันโตๆเราเรียกว่าคอหอยพอกนะครับ) การใช้ยาบางครั้งจะยุบเองได้ก็จะให้อายุรแพทย์รักษาให้ แต่ถ้าบางครั้งก้อนมันใหญ่มากเกิน ยารักษาไม่ได้ต้องผ่าตัด ก็จะเป็นคุณหมอศัลยแพทย์นี่แหละรักษาให้  นอกจากนี้โรคที่เกี่ยวกับการผ่าตัดอื่นๆเช่น ไส้แตก(อู้ยยยยน่ากลัว) กระเพาะทะลุ ไส้ติ่งอักเสบ (ซึ่งโดยส่วนใหญ่ โรคที่ต้องผ่าตัดฉุกเฉินเช่นนี้ศัลยแพทย์จะไปดูผู้ป่วยให้ที่ห้องฉุกเฉิน ครับไม่ต้องมาผู้ป่วยนอก)ริดสีดวง(ที่ต้องผ่า) ก็ต้องให้ศัลยแพทย์เป็นผู้ดูแล และเหมือนกับอายุรแพทย์ครับ ศัลยแพทย์เองก็มีสาขาแยกย่อยออกไปเช่น ศัลยแพทย์ทั่วไป, ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ, ตกแต่ง, กระดูก, และอีกมากมายเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนั้นๆมากยิ่งขึ้นไปอีกครับ
4.           สูตินารีแพทย์ คุณสาวๆจงภูมิใจครับว่าคุณเป็นเพศที่โลกนี้ให้ความสำคัญมากโดยการผลิตแพทย์ขึ้นมาเพื่อพวกคุณโดยเฉพาะเลย 1 สาขา ถ้วนครับ ชื่อก็บอกครับเป็นแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยตั้งครรภ์ (ไม่ต้องเกานะ...อู้ยตลก) และโรคเกี่ยวกับสตรี ซึ่งก็คือโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะที่งอกมาเพิ่มเติมจากผู้ชาย มดลูกและ รังไข่ครับ (จริงๆผู้ชายก็มีอวัยวะที่งอกเกินออกมาที่ผู้หญิงไม่มีเหมือนกันแต่ก็ไม่ยัก กะมีบุรุษแพทย์ครับ ........เอาละข้ามไปเถอะ) โรคที่คุณจะไปตรวจก็เช่น เอ่อสมมติว่าตรงนั้นของสุภาพสตรีเป็น  “ชิซุกะละกันนะครับ ชิซุกะไม่สบายเช่น เลือดออก มีมูกขาวเขียวกลิ่นแรง ชิซุกะคันมาก ผื่นขึ้น มีก้อนที่มดลูกอะไรก็ตามแต่สามารถไปปรึกษาได้ หรือจะไปฝากครรภ์ก็ไปหาคุณหมอเหล่านี้ครับ
5.           กุมารแพทย์ ตรวจเกือบทุกอย่างที่เกี่ยวกับเด็กครับ โดยส่วนใหญ่จะตัดที่ 15 ปีครับ บางโรงพยาบาล15 ปีขึ้นไปก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางโรงพยาบาลต้อง 16 ปีขึ้นไปก่อนแล้วแต่ครับ ซึ่งกุมารแพทย์เองก็มีสาขาแยกย่อยออกไปอีกเช่นกันครับ
6.           แพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ ที่รวมมาส่วนนี้ไม่ได้ไม่เห็นความสำคัญนะครับ(โอ๋ๆๆๆ) แต่เพราะชื่อของท่านเหล่านี้รู้อยู่แล้วครับว่าตรวจอะไร เช่น จักษุแพทย์ คือ หมอตา, โสตศอนาสิก คือ หมอหูคอจมูก, จิตเวช คือ หมอที่ปรึกษาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต แพทย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ คือแพทย์ที่ตรวจเรื่องกระดูกและข้อ เป็นต้น
7.           แพทย์ทั่วไป เป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่ท่านทั้งหลายคิดไม่ออกว่าจะไปที่ใดครับ เพราะหมอทั่วไปนี้จะตรวจได้ทุกโรค (อ้าวถ้างั้นก็เก่งสุดสิ) แต่รักษาได้บางโรคครับ (อ่ออออออ) บางโรคที่เกินกำลังก็จะส่งต่อไปยังคุณหมอเฉพาะทางอื่นๆ กรณีนี้ท่านอาจจะไปพบหมอทั่วไปก่อนก็ได้ แต่อาจจะต้องเสียเวลาไปหาหมอเฉพาะทางอีกรอบนึง ถ้าท่านรู้โรคอยู่แล้ว การไปหาหมอเฉพาะทางโดยตรงจะเร็วกว่าครับ
                     นอกจากนี้ยังมีแพทย์สาขาอื่นๆอีกมากมาย (จริงๆประมาณ 70-80 สาขา เลยละครับ) แต่แพทย์เหล่านี้บางครั้งไม่ได้มาตรวจคลินิกผู้ป่วยนอกเช่น แพทย์นิติเวช (บางโรงพยาบาลก็มีนะครับ แต่ไม่ได้มาชัณสูตรให้ดูนะ (บรึ๋ยยยยย แต่มาดูแลผู้ป่วยที่ต้องการปรึกษาด้านกฎหมายนะครับ) วิสัญญีแพทย์ (หมอวางยาสลบ) แพทย์พยาธิวิทยา(อ่านผลชิ้นเนื้อที่ตัดจากเราส่งไปตรวจก็ให้ผู้เชี่ยวชาญ เหล่านี้ละครับอ่านให้ว่าเป็นโรคอะไร) แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว,เวชศาสตร์ชุมชน(คอยดูแลโรงงานต่างๆหรือออกดูแลผู้ ป่วยตามบ้าน) เป็นต้น 
          ซึ่งในแต่ละโรงพยาบาลก็จะมีแพทย์ และแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆที่แตกต่างกัน บางโรงพยาบาลมีจักษุแพทย์ บางโรงพยาบาลไม่มี บางโรงพยาบาลมีศัลยแพทย์ บางโรงพยาบาลไม่มี ซึ่งส่วนใหญ่ในทุกโรงพยาบาลแพทย์ที่น่าจะมีแน่ๆก็จะมีแพทย์ทั่วไปนี่ละครับ ดังนั้นผู้ป่วยก็จะได้รับการตรวจจากแพทย์ทั่วไปก่อน แต่ไม่ต้องห่วงครับ ว่าไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางจะรักษาได้ดีเหรอ? เพราะบางโรคแพทย์ทั่วไปก็รักษาได้ดีเทียบเท่ากับแพทย์เฉพาะทาง และบางโรคก็ไม่จำเป็นต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทางเสมอไป  แต่ถ้าหากแพทย์ทั่วไปท่านนั้นเห็นว่าเกินกำลัง ไม่สามารถรักษาได้ ก็จะส่งต่อผู้ป่วยให้กับแพทย์เฉพาะทางต่อไปครับ

          ไปๆมาๆก็สาธยายกันยาววววววววววววววววววววว เกินไปจนได้ ไว้ครั้งหน้าเราจะเข้าหาคุณหมอกันแล้วครับ